HDL และ LDL ต่างกันอย่างไร?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
05-เม.ย.-2566

HDL และ LDL ต่างกันอย่างไร?

หลายคนอาจสับสนว่า! แท้จริงแล้ว คอเลสเตอรอล ที่เราคุ้นเคย เป็นไขมันประเภทไหน? แล้วไขมันชนิดดี (HDL) กับไขมันชนิดไม่ดี (LDL) นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร? วันนี้โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จะมาไขข้อข้องใจถึงความแตกต่างของไขมันแต่ละชนิดให้ทราบ 




คอเลสเตอรอล คืออะไร?

คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้ง โดยปกติแล้วร่างกายสามารถสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นได้เองจากตับ แต่คอเลสเตอรอลที่เกินความจำเป็นต่อร่างกายมักมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ไม่ว่าจะจากเนื้อสัตว์ติดมัน ไข่แดง นม หรือผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งการที่เรามีคอเลสเตอรองสูงจะเป็นปัจจัยสำคัญอันนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

 

ประเภทของคอเลสเตอรอล

การที่คอเลสเตอรอลจะให้ผลดีหรือส่งผลเสียต่อร่างกายนั้น ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของไขมันด้วย โดยคอเลสเตอรอลแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ

Low-density Lipoprotein (LDL) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไขมันไม่ดี” ซึ่งเป็นไขมันที่ชอบจับตัวสะสมตามผนังหลอดเลือด หากมีไขมันชนิดนี้มากจะทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง



High-density Lipoprotein (HDL)
หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไขมันดี” มีส่วนช่วยลำเลียงคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ออกจากหลอดเลือดแดง และเนื้อเยื่อไปยังตับเพื่อขับออก ทำให้ร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางหลอดเลือดได้ ทั้งยังมีส่วนในการยับยั้งการเกิดออกซิเดชัน การอักเสบ และการแข็งตัวของเลือด ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง



ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันตัวร้ายทำเสี่ยงโรคหลอดเลือด

นอกจากคอเลสเตอรอลแล้ว ยังมีไขมันอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไขมันที่อยู่ในเลือด โดยร่างกายจะใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรอง ซึ่งเราจะได้รับไตรกลีเซอไรด์จากการรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล หรือไขมันต่างๆ หากได้รับสารอาหารเหล่านี้มากเกินความจำเป็น ร่างกายก็จะเปลี่ยนให้เป็นไตรกลีเซอไรด์สะสมอยู่ตามเซลล์ต่างๆ การมีไตรกลีเซอไรด์สูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น

 

ห่างไกลไขมันตัวร้าย ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

  • ควบคุมปริมาณอาหารให้พอดี
  • เลี่ยงอาหารทอด หรืออาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันทรานส์ รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของแป้งหรือน้ำตาลอยู่มาก
  • เลือกรับประทานอาหารที่อุดมด้วยไขมันดี (HDL) เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน
  • เพิ่มการกินผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และผลไม้ไม่หวานในมื้ออาหาร
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน
  • เข้านอนประมาณ 4 ทุ่ม เพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่งดี ลดเสี่ยงไขมันสะสม
  • ลดหรือเลิกการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่

 

การตรวจสุขภาพประจำทุกปีโดยมาตรฐานทั่วไป จะมีการตรวจวัดระดับไขมันชนิดต่างๆ ร่วมด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเราทราบผล ก็ควรดูแลตนเองหรือปรับพฤติกรรมเพื่อให้ระดับไขมันประเภทต่างๆ มีค่าที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและอวัยวะต่างๆ เพราะเราทุกคนสามารถดูแลสุขภาพให้ดีได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสม

บทความโดย
นายแพทย์เปรมยศ เปี่ยมนิธิกุล

แพทย์ประจำสาขาอาชีวเวชศาสตร์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn