ไขมันในเลือดสูง..เสี่ยงสารพัดโรค
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
20-ก.ย.-2565
ไขมันในเลือดสูงเสี่ยงสารพัดโรค
การมี “ไขมันในเลือดสูง” จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมากมาย โดยเฉพาะ 'โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ'  ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอจนเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ โรค 'หลอดเลือดสมองตีบ' ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด Stroke นำไปสู่การเป็น 'อัมพฤกษ์ อัมพาต' ทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย

ชนิดของไขมันในเลือด มีทั้งที่เป็นประโยชน์และให้โทษต่อร่างกาย
1). คอเลสเตอรอล (Cholesterol) แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
High-Density Lipoprotein หรือ (HDL) เป็น ไขมันชนิดดี มีความหนาแน่นสูง ช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ การมีไขมัน HDL ในเลือดสูงจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มไขมัน HDL ให้เราได้
Low-Density Lipoprotein หรือ (LDL) เป็น ไขมันชนิดไม่ดี ส่วนใหญ่มาจากไขมันสัตว์ เป็นคอเลสเตอรอลที่จะไปสะสมตามผนังของหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน ทั้งหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ
2). ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองจากน้ำตาลและแป้ง หรือจากอาหารที่เรารับประทาน หากมีปริมาณมากเกินไปก็ก่อให้เกิดโรคได้



ลดไขมันตัวร้าย เพิ่มไขมันตัวดี ด้วยการรับประทานอาหาร

เราสามารถดูแลตัวเองแบบง่ายๆ ด้วยการรับประทารอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งอาหารที่จะช่วยเพิ่มไขมันดีลดไขมันเลวให้กับร่างกายนั้นมีอยู่หลายชนิด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาจทำให้ได้รับแคลอรีมากเกินพอดี

ดาร์กช็อกโกแลต ช่วยลดการก่อตัวของคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีในเลือดได้
ไวน์แดง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี แถมยังได้คุณประโยชน์จากองุุ่น เช่นเดียวกับอาหารเสริมที่สกัดจากองุ่น แต่ไม่ควรดื่มเยอะเกินไป แนะให้ดื่มเพียงวันละ 1 แก้ว
ปลาทะเลไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ช่วยให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง
ถั่ว อุดมด้วยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ช่วยลดระดับไขมันในเลือด
มะเขือยาว ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลผ่านผนังลำไส้ได้

'การตรวจสุขภาพ' และการ 'ตรวจไขมันในเลือด' จะทำให้เราทราบถึงระดับไขมันในแต่ละชนิดในร่างกาย ซึ่งแพทย์จะได้แนะนำวิธีการลดไขมันเลวเพิ่มไขมันดี ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือหากพบระดับไขมันที่เริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพและหลอดเลือด ก็จะได้รีบรักษาด้วยการกินยาลดไขมัน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรรับประทานยาหรือไม่และในปริมาณเท่าไร จากการวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ของผู้เข้ารับการตรวจร่วมด้วย


 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn