-
ตรวจสุขภาพประจำปี เลือกให้ดีตามช่วงวัย
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
20-ก.ค.-2566
ตรวจสุขภาพประจำปี เลือกให้ดีตามช่วงวัย

การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญและถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องตรวจตั้งแต่แรกเกิด เพราะในแต่ละช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กทารก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยชรา ร่างกายก็จะมีการเปลี่ยนแปลง คือทั้งการเจริญเติบโต การสร้างเสริม และความเสื่อมถอยที่แตกต่างกันไปตามอายุที่มากขึ้น เราจึงควรได้รับการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมตามช่วงวัย ทั้งนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า มีเกณฑ์หรืออะไรบ้างที่ควรตรวจในแต่ละช่วงอายุ วันนี้ โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ มีคำตอบมาฝาก...

 


วัยเด็ก (ช่วงอายุ 0-13 ปี)

ในช่วงที่ลูกน้อยยังอยู่ในวัยเด็ก คือตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 13 ปี เด็กควรได้รับวัคซีนตามช่วงอายุเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และตรวจหาความเสี่ยงโรคต่างๆ รวมถึงการมองเห็น การได้ยิน สุขภาพฟันและช่องปาก ตรวจพัฒนาการตามช่วงวัยทั้งทางร่ายกาย อารมณ์ และสังคม ว่าเด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมเป็นไปตามวัยหรือไม่ ทั้งยังต้องดูค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือไม่ให้อ้วนหรือผอมจนเกินไป โดยควบคุมในเรื่องของโภชนาการให้ดี เพราะสารอาหารที่ครบถ้วนจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการอีกทางหนึ่ง เมื่อใกล้เข้าสู่วัยรุ่นควรปรึกษาแพทย์ หากลูกมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

 


วัยรุ่น (ช่วงอายุ 13-18 ปี)

ในช่วงวัยนี้ เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ และมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในด้านพัฒนาการทางเพศ แม้ส่วนใหญ่คนวัยนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ก็ควรได้รับการตรวจร่างกายที่เหมาะกับวัย โดยเป็นการตรวจสุขภาพพื้นฐานโดยรวม เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจระดับไขมันในเลือด ตรวจระบบการทำงานของตับและไต หรือตรวจปัสสาวะและเอกซเรย์ปอด เพราะหากพบความผิดปกติใดๆ จะได้รีบรักษาหรือหาทางป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม ทั้งนี้ยังควรให้ความสำคัญกับค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เนื่องจากการมีน้ำหนักเกินเกณฑ์จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังเมื่ออายุมากขึ้นได้ง่าย

 


วัยทำงาน (ช่วงอายุ 18-40 ปี)

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยมาก มักเกิดจากไลฟ์สไตล์ เช่น ความเครียดจากการทำงาน การกินอาหารไม่ตรงเวลา ไม่ถูกหลักโภชนาการ การขาดการออกกำลังกายเพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทุ่มเทไปกับการทำงาน หรือการเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แทบจะตลอดเวลา ส่งผลให้คนวัยนี้เกิดการความเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะหลังอายุ 30 ปีเป็นต้นไป ร่างกายก็จะค่อยๆ เข้าสู่สภาวะถดถอย จึงควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยตรวจให้ครอบคลุมทั้งระดับไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือด กรดยูริก การทำงานของตับและไต ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และฉีดวัคซีนหากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้

สำหรับในผู้หญิงควรตรวจภายในทุก 1-2 ปี ตรวจเต้านมทุก 3 ปี หรือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3-5 ปี เพิ่มเติมด้วย

 


วัยทำงาน (ช่วงอายุ 40-60 ปี)

ในช่วงวัยนี้ เป็นช่วงที่สภาวะร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพลงค่อนข้างมาก ร่างกายต้องการการดูแลอย่างจริงจัง บางคนอาจมีอาการของโรคที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นที่เริ่มออกอาการ นอกจากการตรวจสุขภาพเช่นเดียวกับช่วงอายุ 18-40 ปีแล้ว ยังควรตรวจสุขภาพหัวใจ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เนื่องจากเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น ตรวจสุขภาพดวงตา ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน หรือตรวจหาโรคมะเร็งต่างๆ ตามความเสี่ยง

โดยผู้หญิงควรตรวจเต้านมโดยแพทย์ปีละครั้ง ตรวจภายในทุกปี และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี และผู้ชายควรตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย

 


วัยสูงอายุ (ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป)

ช่วงวัยนี้ ควรได้รับการตรวจแบบเจาะลึก เพื่อหาโรคที่อาจแฝงอยู่โดยไม่แสดงอาการ ซึ่งหากรอให้เกิดอาการก่อน โรคก็มักจะเข้าสู่ระยะลุกลามรุนแรงแล้ว ทำให้การรักษายากขึ้นทั้งตัวโรคและสภาพร่างกายที่อายุมากแล้ว

โดยในวัยนี้ ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคอย่างครอบคลุม รวมทั้งการตรวจเฉพาะทางในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ช่องท้อง ตรวจตา คัดกรองมะเร็งต่างๆ โรคเบาหวาน และมวลกระดูก

และในผู้หญิงยังควรตรวจเต้านม ตรวจภายใน และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามคำแนะนำของแพทย์ และผู้ชายควรตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก เหมือนในช่วงอายุที่ผ่านมา

 


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ

  1. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ
  2. งดการทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
  3. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ
  4. สามารถทานยาโรคประจำตัวได้ แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ
  5. หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพ ควรนำเอกสารรายงานจากแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
  6. เลือกสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย และสะดวกต่อการเจาะเลือด
  7. หากมีการตรวจปัสสาวะ ควรปัสสาวะในช่วงต้นทิ้งและเก็บปัสสาวะในช่วงกลาง
  8. หากผู้หญิงสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ
  9. ควรให้ข้อมูลของตนเองแก่แพทย์อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา เพื่อผลวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด

 

ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัยควรตรวจอะไรบ้าง? ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยและความเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันด้วย และไม่ว่าเราจะมีอาการผิดปกติหรือไม่ ก็ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะจะช่วยให้เรารู้ถึงความเสี่ยง หรือพบโรคที่กำลังก่อตัวอยู่ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงนี้ ซึ่งหลายโรคหากพบเร็วจะรักษาได้ง่ายกว่าการพบโรคในระยะลุกลามเป็นอย่างมาก ทั้งยังช่วยให้ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อีกด้วย

บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์ประจำสาขาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn