ผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวไว ใช้ชีวิตได้ปกติ
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
29-พ.ย.-2566

ผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวไว ใช้ชีวิตได้ปกติ

เมื่อผู้หญิงมีความจำเป็นในการรักษา โดยเฉพาะการรักษาเกี่ยวกับอวัยวะสำคัญอย่างมดลูกและรังไข่ สำหรับผู้หญิงแล้วคงรู้สึกวิตกกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับการรักษา รวมถึงแผลที่จะเกิดขึ้นบนเรือนร่าง ที่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคุณผู้หญิง แต่ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดที่จะช่วยให้คุณผู้หญิงหมดกังวลกับรอยแผลที่จะเกิดขึ้น และมีประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้นด้วย กับการผ่าตัดที่เรียกว่า “การผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวไว ใช้ชีวิตได้ปกติ”

 


การผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง คือ?

การผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องและเครื่องมือผ่าตัดพิเศษขนาดเล็ก สอดเข้าไปผ่านแผลบริเวณหน้าท้องขนาดเพียง 0.5-1.5 เซนติเมตร เพื่อจับภาพอวัยวะภายในและส่งมายังจอมอนิเตอร์ โดยแพทย์จะมองเห็นภาพได้อย่างละเอียดชัดเจนผ่านกล้องที่สอดเข้าไป ใช้สำหรับทำการวินิจฉัยและสามารถผ่าตัดเพื่อรักษาได้

หลังทำการผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง แผลจะมีขนาดเล็กจึงใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อย และลดอาการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ ทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง ทั้งยังลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเปิดหน้าท้องแบบเดิมได้อีกด้วย

 

การผ่าตัดแบบส่องกล้องทำเพื่ออะไร?

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. การผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางผนังหน้าท้อง ในช่องท้อง หรืออุ้งเชิงกราน เพื่อทำการวินิจฉัยหรือรักษา
  2. การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เป็นการใช้กล้องส่องผ่านทางปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติภายในมดลูก เป็นการผ่าตัดโดยไม่ต้องเปิดแผลหน้าท้อง ใช้วินิจฉัยหรือรักษารอยโรคในโพรงมดลูก เช่น เนื้องอก ติ่งเนื้อ หรือภาวะผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก เช่น ผังพืดในโพรงมดลูก หรือการเจริญผิดปกติของโครงสร้างมดลูก

 


ภาวะแบบไหน...ที่ใช้การผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้องได้

  • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ในอุ้งเชิงกราน
  • ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
  • เนื้องอกมดลูก หรือเนื้องอกรังไข่
  • มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งรังไข่ในบางกรณี
  • ถุงน้ำรังไข่ และช็อกโกแลตซีสต์
  • ภาวะมดลูกหย่อน
  • ภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผ่าตัดทำหมันแห้ง

ทั้งนี้ ภาวะเหล่านี้เป็นเพียงภาวะเบื้องต้นที่สามารถทำการผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้องได้ การเข้ารับการผ่าตัดมดลูกยังต้องอาศัยปัจจัยของบุคคล ประเภทของโรค และอื่นๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากสูตินรีแพทย์ก่อนเท่านั้น

 

การผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้องดีอย่างไร?

  • แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่า
  • ลดความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดหลังผ่าตัด
  • ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดไม่นานเพียง 24-48 ชั่วโมง
  • สามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้ไวกว่า

 

การเตรียมตัวก่อนการเข้ารับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

  • ผู้ป่วยควรทราบวิธีการผ่าตัด และทางเลือกการรักษา รวมถึงข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากแพทย์
  • หากมีโรคประจำตัว หรือประวัติการแพ้ยาควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพราะอาจมีผลต่อการผ่าตัด
  • ควรงดสูบบุหรี่ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ และหยุดยาหรือใช้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • เตรียมร่างกายก่อนการผ่าตัด โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • แพทย์จะให้งดอาหารและน้ำทุกชนิดนานอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อลด และป้องกันข้อแทรกซ้อนของการสำลักในขณะที่มีการให้ยาระงับความรู้สึก

 

การปฏิบัติตัวหลังจากการเข้ารับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

  • อาการปวดแผล อาจพบได้ในช่วงสัปดาห์แรกของผ่าตัด การรับประทานยาแก้ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ และอาการปวดแผลจะทุเลาลงเมื่อระยะเวลาผ่านไป
  • หลีกเลี่ยงการยกสิ่งของหนัก หรือการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด และงดการออกกำลังกายอย่างหนัก
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่าย และกินผัก ผลไม้ เพื่อลดอาการท้องผูก
  • งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  • พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 - 10 ชั่วโมง ในสถานที่ซึ่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • รับประทานยาให้ตรงตามเวลา และครบจำนวนตามที่แพทย์สั่ง
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกคนในแบบแผนเดียวกัน แต่จะขึ้นอยู่กับสภาพ และปัจจัยเฉพาะของแต่ละบุคคล ชนิดของการผ่าตัด ตลอดจนสภาพของร่างกายที่แตกต่างกันอีกด้วย

บทความโดย

แพทย์หญิงลูกหวาย คู่ธีรวงศ์

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn