6 โรคยอดฮิตในผู้หญิง เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องระวัง!
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
06-ก.ย.-2566

6 โรคยอดฮิตในผู้หญิง เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องระวัง!

ผู้หญิงกับผู้ชาย มีโครงสร้างร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนั้นปัญหาสุขภาพก็ย่อมแตกต่างกันไป โดยเฉพาะร่างกายของผู้หญิงที่มีความละเอียดและซับซ้อนมากกว่าผู้ชาย ทำให้ในช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น เริ่มเข้าสู่วัยมีประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือน ก็อาจส่งผลให้เกิด 6 โรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยในผู้หญิงได้ ดังนี้

 


  1. มะเร็งเต้านม

เกิดจากการแบ่งเซลล์มากเกินไปจนผิดปกติในท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม ทำให้ก่อตัวเป็นก้อนมะเร็งในเนื้อเต้านม สาเหตุการเกิดโรคไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สามารถระบุปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมเร็วขึ้นได้ ได้แก่ การรับฮอร์โมนเอสโตรเจนติดต่อกันเป็นเวลานาน ความอ้วน อายุ ประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว และประวัติการมีบุตร ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รับการรักษา เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงต่างๆ เช่น ปอด ต่อมน้ำเหลือง และกระดูก เป็นต้น

อาการ

  • รูปร่างเต้านมผิดไปจากเดิม มีความเบี้ยว หรือเต้านมสองข้างไม่สมมาตรกัน
  • คลำพบก้อนแข็งบริเวณเต้านม
  • เห็นรูขุมขนชัดขึ้นและผิวบริเวณเต้านมมีความขรุขระคล้ายผิวของเปลือกส้ม
  • ผิวเต้านมมีรอยผื่นแดง รู้สึกร้อนข้างใน
  • มีรอยบุ๋มบริเวณเต้านมคล้ายลักยิ้ม
  • หัวนมบุ๋มทั้งที่ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด
  • มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม

การรักษา

การรักษาในปัจจุบันมีทางเลือกหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด  ทั้งนี้การรักษาจะพิจารณาจากระยะของมะเร็ง ร่วมกับการประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เพื่อออกแบบวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

  1. ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ

ภาวะนี้ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของสมดุลภายในร่างกาย โดยมีปัจจัยต่างๆ อาทิ ความเครียด อาหารที่ทาน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดมากเกินไป การทานยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การพักผ่อน การออกกำลังกายมากเกินไป หรือในบางรายอาจเกิดจากความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น

อาการ

  • ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือมามากผิดปกติ โดยสังเกตจากการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยกว่าปกติ
  • ประจำเดือนมานานเกิน 7 วันขึ้นไป
  • ประจำเดือนขาดโดยไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์
  • มีลิ่มเลือดปนออกมากับประจำเดือน
  • ยังคงมีประจำเดือนอยู่ แม้จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วก็ตาม

การรักษา

สามารถทำได้โดยการตรวจภายในหรืออัลตราซาวด์ว่ามีก้อนหรือติ่งเนื้อหรือไม่ หากไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ทางกายภาพ สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนชั่วคราวได้ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมหรือทานยาฮอร์โมน

 

  1. ภาวะช่องคลอดอักเสบ

เกิดจากช่องคลอดขาดความสมดุลของเชื้อแบคมีเรีย ทำให้แบคทีเรียบางชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นผิดปกติจนเกิดการอักเสบ และเกิดตกขาว ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้ช่องคลอดอักเสบ เช่น การสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินไป การสวมชุดชั้นในรัดแน่นหรือไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยจนทำให้บริเวณอวัยวะเพศเกิดความอับชื้น การสูบบุหรี่ การมีคู่นอนหลายคน หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยล้วนส่งผลทั้งสิ้น

อาการ

  • คันหรือระคายเคืองบริเวณช่องคลอดหรือผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ
  • ตกขาวผิดปกติ มีสีขาวปนเทาอ่อน หรือสีเขียวที่เกิดจากการอักเสบภายในช่องคลอด อาจมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ เป็นฟอง แผ่น หรือเป็นก้อนแป้งเปียก
  • มีกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายกุ้งเน่าหรือคาวปลา
  • รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

การรักษา

สาเหตุของตกขาวสามารถเกิดได้หลายปัจจัยทั้งเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ดังนั้นแพทย์จะทำการตรวจภายใน และนำตกขาวที่ได้ไปตรวจวินิจฉัย เมื่อตรวจพบสาเหตุของการเกิดตกขาวแล้ว แพทย์จะทำการจ่ายยาให้ตามสาเหตุนั้นๆ

 

  1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ ช็อกโกแลตซีสต์

โดยปกติแล้ว การเกิดประจำเดือนจะมาจากการสลายตัวของไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกกลายเป็นประจำเดือนไหลออกทางช่องคลอด แต่ในกรณีของช็อกโกแลตซีสต์ ประจำเดือนจะไหลย้อนกลับขึ้นไปที่อุ้งเชิงกรานผ่านท่อนำไข่ และกระจายตัวเข้าไปฝังตามอวัยวะต่างๆ เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้อง หรืออาจพบได้ที่กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ใหญ่ เป็นต้น บวกกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ร่างกายที่หลั่งออกมาจะไปกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตในจุดที่ฝังตัวดียิ่งขึ้น จนเกิดเป็นช็อกโกแลตซีสต์ในที่สุด

อาการ

  • ปวดท้องก่อนมีประจำเดือน หรือในช่วงที่มีประจำเดือน และจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยจะปวดบริเวณท้องด้านหน้า ไล่ตั้งแต่สะดือไปจนถึงอุ้งเชิงกราน
  • ปวดหลังร้าวลงขา
  • มีอาการลำไส้แปรปรวน ท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้องน้อยขณะขับถ่าย หรือปวดเสียดในท้อง
  • บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยหรือเจ็บในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด แม้จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปแล้ว

การรักษา

เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนมากแล้ว การรักษาจะเป็นการบรรเทาอาการของโรค โดยหากมีอาการปวดท้องมากก็จะรักษาด้วยการให้ทานยาแก้ปวด หรือการใช้ยาคุมกำเนิดก็ช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ ซึ่งโรคนี้จะดีขึ้นเองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเพศไปกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกซ้ำ

 

  1. เนื้องอกมดลูก

เกิดจากการสร้างเซลล์มดลูกมากเกินไปจนผิดปกติ ร่วมกับการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนที่กระตุ้นให้เซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตดีขึ้น จนกลายเป็นเนื้องอกแทรกตัวอยู่ตรงบริเวณมดลูก โดยเนื้องอกจะมีขนาดแตกต่างกันไป และสามารถพบได้ก้อนเดียวหรือหลายก้อนพร้อมๆ กันได้

ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากข้อมูลสถิติ เนื้องอกมดลูกจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น นั่นจึงทำให้เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้ายและโอกาสกลายเป็นก้อนมะเร็งมีน้อยมากๆ

อาการ

  • ประจำเดือนมามาก ปวดท้องน้อย
  • คลำเจอก้อนบริเวณท้องน้อย
  • เมื่อเนื้องอกโตขึ้นอาจไปกดทับอวัยวะภายในอื่นๆ จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะติดขัดได้

การรักษา

ต้องพิจารณาร่วมกับขนาดและอาการของเนื้องอก หากเนื้องอกมีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจใช้การอัลตราซาวด์เพื่อติดตามขนาดของก้อนเนื้อ ร่วมกับทานหรือฉีดยาคุมเพื่อควบคุมอาการ แต่หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากจะต้องทำการผ่าตัดเอาออก โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก

 

  1. มะเร็งปากมดลูก

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ติดต่อกันผ่านการสัมผัสหรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้ออยู่ โดยเชื้อจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงเซลล์บริเวณปากมดลูกจนเกิดความผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งหากปล่อยไว้นาน เซลล์มะเร็งจะลุกลามเข้าไปในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น

อาการ

  • ตกขาวผิดปกติ ตกขาวมีเลือดปน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกทั้งที่ยังไม่ถึงช่วงรอบเดือน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด แม้จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปแล้ว

การรักษา

การรักษามีอยู่หลายรูปแบบโดยจะพิจารณาจากระยะของมะเร็ง ซึ่งหากมะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อาจใช้การรักษาโดยการผ่าตัด หากมะเร็งเข้าสู่ช่วงระยะกลางแล้ว จะใช้การฉายรังสีรักษา หรือใช้เคมีบำบัดแทน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เข้าสู่ระยะสุดท้าย การรักษาจะทำได้เพียงประคองอาการเท่านั้น และบรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยแทน

 
ลดความเสี่ยง...เลี่ยงโรคนรีเวช

ส่วนใหญ่โรคทางนรีเวชที่พบบ่อยมักมีสาเหตุการเกิดไม่แน่ชัดและคลุมเครือ ซึ่งอาจเกิดได้จากสภาวะร่างกายของผู้ป่วย หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคทางนรีเวช ทำให้หลายครั้งร่างกายมักไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาเลย และกว่าจะรู้ตัวก็อาจเข้าสู่ระยะรุนแรงไปแล้วได้

และเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคทางนรีเวช ผู้หญิงจึงควรหมั่นดูแลตัวเองสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถทำได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
  • หลีกเลี่ยงการใส่กระโปรงหรือกางเกงรัดรูป เพื่อลดความอับชื้นของอวัยวะเพศ
  • ใช้ผ้าอนามัยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือนเท่านั้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง และเพิ่มภูมิต้านทานได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้มะเร็งเติบโตได้ดี
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันว่า ภาวะอ้วน มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งหลายชนิดอย่างมีนัยสำคัญ

 


และอีกวิธีหนึ่งที่เป็นวิธีที่แม่นยำและได้ผลมากที่สุดในการป้องกันโรคทางนรีเวช คือการตรวจภายในกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำปี เพื่อหารอยโรคและความผิดปกติต่างๆ ของร่างกายเทียบกันในแต่ละปี โดยวิธีการตรวจจะประกอบไปด้วย การตรวจภายใน การอัลตราซาวด์มดลูกหรือรังไข่ ร่วมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย Pap Smear ทั้งนี้รูปแบบการตรวจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

 

นอกจากนี้ ผู้หญิงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ แม้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยบริเวณอวัยวะเพศ เช่น คันในช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่น หรือสีของตกขาวที่ผิดไปจากเดิม ก็จะช่วยประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ได้แม่นยำและช่วยให้เข้าทำการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น

บทความโดย

แพทย์หญิงศิริพร ประยูรหงษ์

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn