-
เนื้องอกในมดลูก...โรคยอดฮิตของผู้หญิงวัยทำงาน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
21-ก.ค.-2565

เนื้องอกในมดลูก...โรคยอดฮิตของผู้หญิงวัยทำงาน
“เนื้องอก” เมื่อเอ่ยถึงคำๆ นี้ หลายคนมักคิดว่าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ยิ่งหากเกิดขึ้นกับตนเองหรือกับคนในครอบครัวก็จะยิ่งมีความกังวล โดยเฉพาะการเป็นเนื้องอกมดลูกในคุณผู้หญิง ซึ่งพบมากที่สุดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ แต่
ในความเป็นจริงแล้ว เนื้องอกในมดลูกไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงอย่างที่ใครหลายคนคิด เพราะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ วันนี้ โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคเนื้องอกในมดลูกกัน

 

เนื้องอกในมดลูก...คืออะไร?

เนื้องอกมดลูก เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้มดลูกโตขึ้น โดยอาจเกิดได้ทั้งภายในโพรงมดลูก หรือโตออกมาจากมดลูกก็ได้ อาจเป็นได้ทั้งก้อนใหญ่ก้อนเดียวหรือก้อนเล็กๆ หลายก้อน ซึ่งเนื้องอกในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกมักพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 25-50 ปี โดยเนื้องอกในมดลูกมักมีผลต่อปริมาณประจำเดือนที่ผิดปกติ และอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ และส่วนใหญ่จะพบว่าตัวเนื้องอกจะค่อยๆ ฝ่อไปเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน

 

ประเภทของเนื้องอกในมดลูก

เนื้องอกในมดลูกสามารถแบ่งได้ตามตำแหน่งที่เนื้องอกเกิดขึ้นบริเวณมดลูก สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

  1. เนื้องอกในโพรงมดลูก เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณใต้เยื่อบุมดลูก โดยก้อนเนื้อที่งอกขึ้นมาจะงอกดันเข้าไปในโพรงมดลูก ทำให้โพรงมดลูกผิดรูปไปจากเดิม ซึ่งมีผลต่อการตั้งครรภ์ หรือประจำเดือนที่ผิดปกติได้
  2. เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก  ตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด เป็นลักษณะของก้อนเนื้องอกที่โตขึ้นมาบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก
  3. เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก โดยเนื้องอกที่งอกขึ้นมาจะงอกดันออกมาที่ผิวด้านนอกมดลูก อาจทำให้ไปกดเบียดอวัยวะอื่นได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือลำไส้ ทำให้ถ่ายลำบาก

 



สาเหตุของการเกิด...เนื้องอกในมดลูก?

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเนื้องอกในมดลูก แต่มีการสันนิษฐานกันว่า การเกิดเนื้องอกมดลูกมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ หากคนในครอบครัวเป็นเนื้องอก ก็อาจส่งผลให้ลูกหลานมีโอกาสเป็นได้มากขึ้น และอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ เกิดจากการที่ฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไปเร่งตัวเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เซลล์เกิดการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ จนเกิดเป็นเนื้องอกในที่สุด และจะเจริญเติบโตเรื่อยไปจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ด้วยสาเหตุนี้เอง เมื่อผู้หญิงถึงวัยหมดประจำเดือนเมื่อไหร่ เนื้องอกก็จะค่อยๆ ฝ่อลงไปเอง เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำให้เนื้องอกโตขึ้นได้นั่นเอง

 

เช็ค 7 อาการเสี่ยงเป็น “เนื้องอกในมดลูก”

  • เมื่อคลำที่บริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานจะพบกับก้อนเนื้อ
  • เมื่อถึงเวลาประจำเดือนมาจะมีอาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติ มีปริมาณประจำเดือนมากผิดปกติ หรือมีลิ่มเลือดปนออกมาเป็นก้อน
  • มีอาการปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือนทั้งทียังไม่ถึงรอบประจำเดือนมา
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากเนื้องอกในมดลูกโตขึ้นจนไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
  • มีอาการท้องผูกผิดปกติ เนื่องจากเนื้องอกในมดลูกโตขึ้นไปกดทับบริเวณลำไส้
  • มีบุตรยาก เนื่องจากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปขวางการฝังตัวของทารก

 

วิธีการตรวจวินิจฉัยเนื้องอกในมดลูก

การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจภายใน และทำอัลตร้าซาวด์เพื่อหาความผิดปกติภายในมดลูก

 


การรักษาเนื้องอกในมดลูก

เนื่องจากเนื้องอกในมดลูกนี้เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง การรักษาจึงสามารถแยกได้ตามอาการและปัจจัยต่างๆ ของผู้ป่วยในแต่ละราย โดยมีตั้งแต่...

          - การติดตามเพื่อสังเกตอาการของก้อนเนื้อในมดลูก หากมีประจำเดือนมากผิดปกติ หรือมีอาการปวดรุนแรง ก็จะให้รับประทานยา เช่น ยาแก้ปวด ยาคุมกำเนิด หรือฉีดยาคุมกำเนิด เพื่อระงับฮอร์โมนเพศหญิงไม่ให้ไปกระตุ้นก้อนเนื้อในมดลูก หรือลดปริมาณของประจำเดือน
          - แต่หากรับประทานยาแล้วยังพบว่าอาการไม่ดีขึ้น และเนื้องอกยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก จะทำการรักษาโดยการฉีดสารเพื่อทำให้หลอดเลือดอุดตันบริเวณเนื้องอก ซึ่งจะทำให้เนื้องอกฝ่อลงไป
          - หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่อาจต้องทำการผ่าตัด ซึ่งสามารถแบ่งการผ่าตัดได้ 2 กรณี คือ กรณีผู้ป่วยต้องการเก็บมดลูกไว้ แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยเก็บมดลูกเอาไว้ และกรณีผู้ป่วยไม่ต้องการเก็บมดลูกไว้ แพทย์จะทำการผ่าตัดแบบเอามดลูกออกทั้งหมด
          - ทั้งนี้การเลือกรูปแบบการผ่าตัดก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ร่วมกัน และยังสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ผ่าตัดทางช่องคลอด และการผ่าตัดผ่านกล้อง

 

วิธีป้องกันและลดเสี่ยง

การป้องกันและลดเสี่ยงสามารถทำได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้

  • สังเกตอาการของตนเองเป็นประจำ หากมีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยให้รีบพบแพทย์
  • เข้ารับการตรวจร่างกายประจำทุกปี และทำอัลตร้าซาวด์ตามคำแนะนำของแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการทานอาการที่มีไขมันสูง
  • หลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดที่มีสารเพิ่มปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงสูงๆ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่


บทความโดย

แพทย์หญิงญัฐณิชา สิมะโรจนา

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn