เมื่อลูกน้อยมีไข้สูงตอนกลางคืน ต้องทำอย่างไร
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
16-ม.ค.-2566
“การดูแลเด็ก” เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน และมีข้อควรระวังอยู่มาก โดยเฉพาะช่วงที่ “ลูกตัวร้อนเป็นไข้” ถือเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

อาการตัวร้อนเป็นไข้ เกิดจากอะไรได้บ้าง…

เป็น “ไข้” หรือ "ตัวร้อน" คือภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย โดยการหลั่งสารเคมีออกมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ไปกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้ผลิตความร้อนออกมาเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม โดยทั่วไปเด็กจะมีอาการตัวร้อน หน้าแดงตัวแดง เนื่องจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังขยายตัวเพื่อระบายความร้อน แต่เด็กบางคนอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าเย็นและซีด ทำให้ดูไม่ออกว่ากำลังมีไข้สูง จนกว่าจะได้วัดอุณหภูมิจึงจะทราบ

แบบไหน…ที่เรียกว่ามีไข้สูง

หากวัดปรอทได้อุณหภูมิสูงกว่า 39-40 องศาเซลเซียส แสดงว่าลูกกำลัง "มีไข้สูง" และเนื่องจากร่างกายของเด็กมีพื้นที่ร่างกายน้อย การระบายความร้อนจึงเป็นไปได้ช้า หากปล่อยให้ตัวร้อนจัดเด็กอาจชักเพราะไข้สูงได้ ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นั้นระบบประสาทส่วนกลางยังเจริญได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นหากมีการชักบ่อยๆ ก็จะทำให้เซลล์สมองของเด็กถูกทำลาย ส่งผลต่อระดับสติปัญญาและการทำงานของสมองของเด็กในอนาคตได้


เมื่อลูกมีไข้…กลางดึก

ความจริงแล้ว การมีไข้ส่วนใหญ่ที่พบมักเกิดจากโรคติดเชื้อที่ไม่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่อาจเช็ดตัว หรือให้กินยาลดไข้ ซึ่งการเช็ดตัวจะลดไข้ลงได้เร็วกว่าการกินยา แต่ถ้าหากเด็กมีไข้สูงควรให้ยาลดไข้ควบคู่ไปกับการเช็ดตัวไปด้วยเสมอ

นี่ล่ะ! สิ่งที่ช่วยลดไข้ให้ลูกได้

  • การให้ยาลดไข้ : ยาลดไข้ที่ดีที่สุดคือยาพาราเซตามอล เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงน้อย และไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

  • เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา : เนื่องจากน้ำอุ่นจะทำหน้าที่คล้ายเหงื่อ ช่วยระเหยพาความร้อนออกไป และทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว เลือดจึงไหลมาสู่ผิวได้ดีขึ้น เป็นการนำความร้อนภายในร่างกายออกมาสู่ผิวได้มากยิ่งขึ้น

  • กระตุ้นให้ดื่มน้ำมากๆ : ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำผลไม้ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากพิษไข้ และเพื่อให้น้ำช่วยขับความร้อนออกจากร่างกายมาทางปัสสาวะ

  • สวมเสื้อผ้าโปร่งสบายตัว : ไม่ควรให้เด็กใส่เสื้อผ้าหนา เสื้อแขนยาว หรือห่มผ้าหนาๆ เพราะจะทำให้ไข้สูงยิ่งขึ้น เนื่องจากการระบายความร้อนจะเป็นไปได้ยาก และควรให้เด็กอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับหรือร้อนเกินไป

  • พักผ่อนมากๆ : ควรให้เด็กนอนพัก เพื่อลดการใช้แรง และช่วยลดการทำงานของระบบการเผาผลาญอาหารในร่างกายไปด้วย เมื่อการเผาผลาญอาหารน้อย ความร้อนก็จะไม่สูง


เรื่อง “ไข้” ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเด็ก หากดูแลไม่ถูกวิธี ลูกน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือควรที่จะต้องเห็นความสำคัญและใส่ใจกับภาวะไข้ของลูกน้อยทุกครั้ง และถ้าหาก “อาการไข้” ของลูกยังไม่ดีขึ้นหลังจากที่ได้ทำการปฐมพยาบาลไปแล้ว ก็ควรที่จะพาไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์กุมารเวช อาคาร 3 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 3220 – 3221
Line id : @Paolochokchai4