วัคซีนไวรัสโรต้า วัคซีนไอพีดี วัคซีนแนะนำสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
20-ม.ค.-2566
“วัคซีน” เป็น ชีวสาร หรือ แอนติเจนที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์คิดค้นและผลิตขึ้นมาจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค โดยทำให้มีสภาพที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ แต่เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกาย 'สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค' ชนิดนั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค ไม่ว่าจะโรคจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสก็ตาม

ปัจจุบัน ประเทศไทยเราแบ่งวัคซีนออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.วัคซีนพื้นฐาน หรือ วัคซีนหลัก ที่เด็กไทยควรได้รับตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และ
2.วัคซีนเสริม ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ว “วัคซีนเสริม” นั้นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมในโรคอื่นๆ เพื่อให้ลูกน้อยห่างไกลจากความเจ็บป่วยได้มากที่สุด ซึ่ง นพ.อดิศร์อิงคตานุวัฒน์กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 ได้กล่าวถึงประโยชน์ของวัคซีนเสริม 2 ชนิดสำคัญ ไว้ว่า...


1. วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า

"เชื้อไวรัสโรต้า" เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียในเด็กที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ปี ซึ่งจะมีอาการถ่ายท้องรุนแรง และอาเจียน จนมักต้องนอนโรงพยาบาล การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากเชื้อไวรัสโรต้ามีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง เพียงแค่การล้างมือด้วยสบู่ไม่อาจทำให้เชื้อโรต้าตายได้ การทำความสะอาดสิ่งของต่างๆ รอบตัวเด็กจึงจำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์ และหากเป็นภาชนะก็ต้องใช้วิธีการต้มในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อ ดังนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันท้องเสียจากไวรัสโรต้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเจ้าตัวเล็ก เพราะวัคซีนจะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคได้


การติดต่อของเชื้อไวรัสโรต้า

เชื้อไวรัสโรต้า เป็นเชื้อที่ติดต่อหรือแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายโดยผ่านทางปาก ผ่านการกิน โดยเชื้อโรคนี้จะปะปนอยู่กับอาหาร สิ่งของ ของเล่น ทั้งนี้เชื้อไวรัสโรต้าจะมีชีวิตอยู่ได้หลายวันในสิ่งแวดล้อม เมื่อเด็กๆ นำสิ่งของที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่เข้าปาก ก็จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้เด็กมีอาการไข้ ท้องเสีย อาเจียน และในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ จนมีอันตรายถึงชีวิตได้


ป้องกันลูกน้อยจากไวรัสโรต้า  

สำหรับวิธีการป้องกันเด็ก ให้ห่างไกลอาการ  'ท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า' ที่แนะนำก็คือ
1.ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กได้ในระดับหนึ่ง
2.ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และในภาชนะที่สะอาด
3.ผู้ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนอุ้มหรือสัมผัสกับเด็ก
4.หมั่นทำความสะอาดของเล่น ห้องนั่งเล่น และบริเวณที่เด็กอยู่เป็นประจำ
5.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนโรต้า เพื่อลดความรุนแรงของโรค

2.วัคซีนป้องกันเชื้อไอพีดี

โรคไอพีดี เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก โดยทั่วไปเชื้อนี้จะติดต่อหรือแพร่กระจายผ่านการไอ จาม แม้เชื้อนี้จะไม่ทำให้เกิดโรคในผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงดี แต่จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ในเด็กได้


อาการของโรคติดเชื้อไอพีดี

สำหรับอาการของโรคติดเชื้อไอพีดีนี้ จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น เกิดอาการหูอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง และหากติดเชื้อที่ระบบประสาท ก็จะทำให้เยื่อหุ้มสองอักเสบ โดยเด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง งอแง ซึมและชัก ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลให้สมองพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ หากติดเชื้อในกระแสเลือดเด็กจะมีไข้สูง งอแง และหากอาการรุนแรงมาก อาจส่งผลให้ลูกน้อยช็อกและส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นหากลูกมีไข้สูง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจหรือปล่อยไว้ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน


การรักษาโรคไอพีดี

เดิมที โรคไอพีดีนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ในระยะหลังพบว่าเชื้อเริ่มดื้อยา ซึ่งอาการดื้อยาจะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเมื่อป่วยแล้วจะหายจากโรคได้ยาก อีกทั้งยังมีการลุกลามของโรคอย่างรวดเร็ว โชคดีที่ 'ปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนมาเพื่อป้องกันความเจ็บป่วยจากโรคไอพีดีแล้ว'


วัคซีนป้องกันไอพีดี

โดยส่วนมากวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี จะฉีดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยจะฉีดได้เมื่อเด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป และเข็มต่อไปจะฉีดเมื่ออายุครบ 4 เดือน และ 6 เดือน และครั้งสุดท้ายในช่วงอายุ 12-15 เดือน ทั้งนี้ยังแนะนำให้ฉีดในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือเด็กที่คุณพ่อคุณแม่นำไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์อนุบาลซึ่งต้องอยู่กับเด็กอื่นๆ

แม้ในปัจจุบันจะมีวัคซีนเสริมที่ช่วยในการดูแลสุขภาพของลูกรัก แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลและใสใจอยู่เสมอก็คือ การดูแลเด็กๆ ด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ เรียนรู้และเข้าใจในธรรมชาติของเขา รวมถึงหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติที่เกิดกับลูกอยู่เสมอ แม้จะเป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรมองข้าม เพื่อเจ้าตัวเล็กจะได้เจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดี มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง


ข้อมูลโดย นายเเพทย์ อดิศร์ อิงคตานุวัฒน์

กุมารเเพทย์ ศูนย์กุมารเวช  
อาคาร 3 ชั้น 2 โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร.02-514-4141 ต่อ 3320-3221
Line id : @Paolochokchai4