อย่าปล่อยให้ “รองช้ำ” มาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
17-ต.ค.-2565

เคยมั้ย! ที่รู้สึกเจ็บส้นเท้าจนลามไปทั่วฝ่าเท้า คล้ายๆ กับมีของแหลมมาทิ่ม ส่วนกล้ามเนื้อน่องก็มีอาการเกร็ง และมักจะปวดมากที่สุดตอนลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน ถ้าคุณเคยเป็นหรือกำลังเป็นอยู่ล่ะก็… ให้สงสัยได้เลยว่า นี่อาจคือสัญญาณเตือนของ “โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ” หรือที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ “โรครองช้ำ” นั่นเอง


สาเหตุหลักๆ ของการเกิด “โรครองช้ำ”

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรครองช้ำมีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ ที่ทำร้ายสุขภาพเท้าโดยไม่รู้ตัว หรือมีโครงสร้างของสรีระเท้าที่เอื้อต่อการเกิดโรค และการเป็นโรคบางอย่าง เช่น

  • การรับน้ำหนักเป็นเวลานานๆ เช่น ผู้มีอาชีพที่ต้องยืนทำงานติดต่อกันนานๆ หลายชั่วโมง อย่างพนักงานขายสินค้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำให้เอ็นฝ่าเท้าต้องแบกรับน้ำหนักนานเกินไปอยู่เป็นประจำ

  • การสวมใส่รองเท้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เท้าเกิดการรับน้ำหนักที่ไม่สมดุล

  • การมีน้ำหนักตัวเกินค่า BMI มากๆ หรือการเป็นโรคอ้วน เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นอาจทำให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้

  • เอ็นร้อยหวายยึด หรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่อง ทำให้ส้นเท้าหรือข้อเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

  • ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบนเกินไป อุ้งเท้าโก่งเกินไป

  • เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือข้อสันหลังอักเสบ ซึ่งไปเพิ่มโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูกจนส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ


การรักษา “โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ” หรือ “โรครองช้ำ”

สำหรับการรักษาและดูแลอาการโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรครองช้ำ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • การรับประทานยาต้านการอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

  • การใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับกระดูก เช่น อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าด้านใน หรืออุปกรณ์รองรับส้นเท้า

  • การทำกายภาพบำบัด เช่น การฝึกยืดเอ็นร้อยหวาย ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี

  • การประคบด้วยความร้อนหรือความเย็นเพื่อบรรเทาการอักเสบของเอ็น โดยอาจใช้ยานวดนวดฝ่าเท้า หรือใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้าและส้นเท้าร่วมด้วย

  • หยุดกิจกรรมที่ต้องใช้เท้านานๆ เช่น ยืนนานๆ เดินนานๆ

  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพราะหากน้ำหนักตัวมาก เส้นเอ็นฝ่าเท้าก็ต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้รักษาหายช้า

  • ควรสวมรองเท้าส้นนิ่ม เพื่อลดแรงกระแทก


ออกกำลังกายได้… เพียงแต่ต้อง “ระวัง” ให้มาก

วิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ดี คือการหยุดทุกกิจกรรมที่ต้องใช้เท้านานๆ หรือ…

  • หากจะเล่นกีเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ควรเลือกประเภทที่ไม่ต้องลงน้ำหนักที่เท้ามากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน

  • หากออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่ง ควรใช้แผ่นรองเสริมอุ้งเท้าเพื่อลดแรงกระแทกของฝ่าเท้ากับพื้นรองเท้า และเป็นการช่วยกระจายน้ำหนักให้ทั่วเท้า

  • ควรออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อน่อง และยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นประจำ


การรักษาโรครองช้ำ ส่วนใหญ่ไม่นิยมรักษาด้วยผ่าตัด เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อน และถึงแม้โรคนี้จะดูเหมือนไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว ดังนั้น หากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัย จะได้รักษาอย่างตรงจุดต่อไป



สอบถามรายละเอียด

ศูนย์กระดูกและข้อ อาคาร 2 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 1102-1105