เคยเป็นไหม? ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวไม่รู้จะทำไงดี สุดท้ายก็ต้องหยิบยาคลายกล้ามเนื้อมาทาน เพื่อบรรเทาให้อาการปวดเมื่อยเนื้อตัวเหล่านั้นหายไป โดยที่ไม่รู้ว่ากินไปแล้วจะช่วยได้จริงหรือเปล่า
รู้จัก “ยาคลายกล้ามเนื้อ”
ยาคลายกล้ามเนื้อคือยาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดเฉียบพลันจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อส่วนคอ กล้ามเนื้อส่วนหลัง กล้ามเนื้อแขน ขา หรือข้อต่อตามส่วนต่างๆ ที่อาจเกิดจากการบาดเจ็บ นั่งทำงานผิดท่า หรือเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นต้น
ใช้ “ยาคลายกล้ามเนื้อ” อย่างไร ให้ถูกจุด
สำหรับคนที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่อยๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดอาจต้องใช้ยาหลายกลุ่มควบคู่กันไป โดยขั้นแรกอาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวดดูก่อน แต่หากยังไม่ดีขึ้น อาจเปลี่ยนมาเป็นยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ จากนั้นจึงค่อยใช้ยาลดการอักเสบ เนื่องจากยาอักเสบจะออกฤทธิ์ในการยับยั้งการสังเคราะห์สารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ หากทานแล้วอาการทุเลาลงควรทานต่อจนอาการปวดเมื่อยนั้นหายไป แต่หากผ่านไป 1-2 สัปดาห์ แล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการหนักกว่าเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ท่าบริหารง่ายๆ ทำทุกวัน…ช่วยลดอาการปวดเมื่อย
1. ท่ายืดกล้ามเนื้อ เริ่มจากนำมือทั้งสองข้างประสานกันในท่าไพล่หลัง แล้วเหยียดออกไปด้านหลัง ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า และไหล่ ช่วยคลายความเมื่อยล้าได้
2. ท่าแก้อาการปวดหลัง เริ่มจากยืนตรงโดยเท้าชิดกัน ปลายเท้าขนานกับหัวไหล่ จากนั้นค่อยๆ ก้มตัวไปด้านหน้า เข่าตึง แล้วเหยียดแขนแตะปลายเท้า (หากแตะไม่ถึงให้ก้มมากที่สุดเท่าที่จะทำได้) ทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที
3. ท่าคลายกล้ามเนื้อสะโพก เริ่มจากนั่งให้ก้นติดพนักเก้าอี้ ยกขาขวาขึ้นมาวางทับขาซ้ายโดยให้เข่าชิดตัวมากที่สุด แล้วก้มตัวลงเข้าหาหัวเข่า ทำสลับข้างประมาณ 10 ครั้ง
4. ท่าคลายกล้ามเนื้อขา โดยเริ่มจากยืนหันหน้าเข้าหาเก้าอี้ นำขาข้างหนึ่งพาดลงไปแล้วโน้มตัวลงช้าๆ ให้มือแตะที่เท้า ทำสลับข้างประมาณ 10 ครั้ง
5. ท่าบริหารมือ เริ่มจากกำมือสลับกับกางนิ้วออกทั้งสองข้าง หรือประสานมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันแล้วเหยียดข้อมือให้สุด ทำสลับไปมาเพื่ยืดกล้ามเนื้อมือและแขน
จริงอยู่ที่การทานยา จะช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหมั่นบริหารกล้ามเนื้อให้มีความยืนหยุ่นอยู่เสมอ
สอบถามรายละเอียด
ศูนย์กระดูกและข้อ อาคาร 2 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105