อาการปวดท้องน้อยในผู้หญิง...อาจเสี่ยงเป็นโรคทางนรีเวช
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
16-ก.พ.-2567

อาการปวดท้องน้อยในผู้หญิง...อาจเสี่ยงเป็นโรคทางนรีเวช

อาการปวดท้องน้อย ไม่ว่าจะปวดน้อยหรือปวดมาก หรือปวดในช่วงของประจำเดือน ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่นอกเหนือจากความเจ็บปวดนั้น อาการปวดท้องน้อยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางนรีเวชที่เป็นอันตรายแก่ผู้หญิงอย่างเราได้!

 


แบบไหนถึงเรียกว่า “อาการปวดท้องน้อย”

อาการปวดท้องน้อยในผู้หญิง เป็นอาการปวดตั้งแต่บริเวณใต้สะดือลงไปจนถึงหัวหน่าว โดยอาจสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนก็ได้ ซึ่งอาการปวดท้องน้อยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน (Acute pelvic pain) เป็นอาการปวดท้องน้อยแบบทันทีทันใด ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเป็นลม มักเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในช่องท้อง หรืออาจเกิดจากอวัยวะที่เป็นสาเหตุได้รับความเสียหาย เช่น มดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

การปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) เป็นอาการปวดท้องแบบเป็นๆหายๆ มักรู้สึกปวดหน่วงเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ หรืออาจปวดตลอดเวลา ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ในผู้หญิงบางรายอาจคิดว่าเป็นอาการปวดปกติของประจำเดือน แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อผู้หญิงมีประจำเดือนไม่ควรปวดท้องน้อย หรืออาจปวดเพียงเล็กน้อย ถ้ามีอาการปวดมากส่วนใหญ่มักมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากโรคทางนรีเวช เช่น เนื้องอกมดลูก ซีสต์ที่รังไข่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่

 

ปวดท้องน้อยแบบไหนที่ควรพบแพทย์

เนื่องจากอาการปวดท้องน้อยสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย หากมีอาการสุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งในปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) การเอกซเรย์ (CT scan หรือ MRI) หรือการส่องกล้องเพื่อวินิจฉัยโรค (Laparoscope Surgery)

 


วิธีรักษาอาการปวดท้องน้อย

เมื่อทราบสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยแล้ว การรักษาจะขึ้นอยู่กับการตรวจพบสาเหตุของโรค โดยคำนึงถึงความรุนแรงของอาการ ความเหมาะสมของผู้ป่วย และวิจารญาณของแพทย์ ซึ่งจะมีทางเลือกในการรักษาตั้งแต่การให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ การรักษาด้วยฮอร์โมน หรือการผ่าตัด

นอกจากนี้ยังสามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากวิธีดังกล่าวได้ เช่น การทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ รวมไปถึงการฝึกบุคลิกภาพแบบใหม่ เพ่อลดสาเหตุของการเกิดอาการปวดท้องน้อย

 

ไม่อยากปวดท้อง...ป้องกันได้ด้วยตัวเอง

สำหรับการป้องกันอาการปวดท้องน้อย สามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมอาหาร รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดโรคทางนรีเวช และเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยได้

 

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีอาการปวดท้องน้อยที่ผิดปกติ ทั้งแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง และทำการรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และรบการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะอาการปวดท้องน้อยอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงโรคทางนรีเวชที่อาจตามมาในอนาคตได้



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn