อุบัติเหตุ กระดูกไหปลาร้าหัก
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
20-เม.ย.-2566

กระดูกไหปลาร้าหัก อุบัติเหตุกระดูกหัก ที่มักพบได้บ่อย

กระดูกไหปลาร้า เป็นตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อย แต่มักจะไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง และไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน ยกเว้น ในกรณีที่หายแล้ว จะมีกระดูกติดซ้อนกันทำให้กระดูกนูนขึ้น

ทำความรู้จักกับกระดูกไหปลาร้า
กระดูกไหปลาร้า คือ กระดูกส่วนที่เชื่อมต่อกับกระดูกหน้าอกส่วนบนไปยังกระดูกหัวไหล่ และยังเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกระดูกหัวไหล่ ซึ่งกระดูกไหปลาร้าเป็นกระดูกแบบยาว ทำหน้าที่เสมือนไม้ค้ำที่ประคองแขนเอาไว้ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวแขนได้อย่างอิสระ และนอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการป้องกันหลอดเลือดและเส้นประสาทจากบริเวณส่วนคอที่เชื่อมไปยังรักแร้ ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

สาเหตุกระดูกไหปลาร้าหัก
กระดูกไหปลาร้าหักเป็นตำแหน่งกระดูกหักที่มักพบได้บ่อย เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ง่ายต่อการบาดเจ็บจากการได้รับแรงกระแทกที่ผ่านมาจากแขนสู่ลำตัว โดยการหักของกระดูกไหปลาร้าอาจเกิดจากแรงกระแทกโดยตรงที่กระดูกไหปลาร้า หรือแรงกระแทกทางอ้อมจากไหล่หรือแขน เช่น อุบัติเหตุรถชนจนไหล่ได้รับแรงกระแทกจากรถหรือพื้นถนน หกล้มในท่าแขนเหยียดออกกระแทกพื้น หรือหกล้มไหล่แล้วไหล่กระแทกพื้น เป็นต้น

อาการเมื่อมีกระดูกไหปลาร้าหัก
🔸
มีอาการปวด บริเวณกระดูกที่หัก โดยเฉพาะเมื่อต้องขยับไหล่ ขยับแขน หรือเวลาหายใจแรง ๆ
🔸
มีลักษณะผิดรูปบริเวณกระดูกไหปลาร้า
🔸
มีอาการบวม กดเจ็บ หรือคลำได้ปลายกระดูกที่หัก บางครั้งอาจได้ยินเสียงกระดูกเสียดสีกันเวลาขยับไหล่

การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น

ส่วนใหญ่แล้วแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยกระดูกไหปลาร้าหักได้จากการตรวจร่างกายที่จะเห็นการผิดรูป ปวด บวมของบริเวณกระดูกไหปลาร้าหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บมา และสามารถตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้โดยการส่งตรวจทางรังสี เช่น การตรวจเอกซเรย์ (X-rays)

การรักษากระดูกไหปลาร้าหัก

โดยปกติแล้ว การรักษากระดูกไหปลาร้าหัก แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่กระดูกไหปลาร้าหักสามารถรักษาได้โดยการไม่ผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนที่ของกระดูกหักไม่มาก โดยในกรณีนี้สามารถรักษาได้โดยการใส่ที่คล้องแขน (Arm Sling) ไว้เป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์ และค่อย ๆ เริ่มขยับมากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะหัวไหล่ติด โดยแพทย์จะนัดเพื่อตรวจติดตามผลการรักษาและอาจพิจารณาตรวจทางรังสีเป็นระยะ ๆ โดยทั่วไปกระดูกจะติดภายในระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์
        แต่อย่างไรก็ตาม การรักษากระดูกไหปลาร้าหักโดยไม่ผ่าตัด อาจทำให้มีโอกาสเกิดภาวะกระดูกไม่ติดหรือติดผิดรูป ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในกรณีที่กระดูกหักเคลื่อนจากกันมาก

2. การรักษาแบบผ่าตัด ในกรณีที่กระดูกไหปลาร้าหักและมีการเคลื่อนที่ออกจากกันมาก โดยเฉพาะกรณีที่กระดูกหดสั้นหรือแยกออกจากกันมากกว่า 2 เซนติเมตร การรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กดามกระดูกจะเพิ่มโอกาสกระดูกติดและลดการติดผิดรูปได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการผ่าตัดแผลที่เล็กลงที่เรียกว่า Minimally Invasive Plate Osteosynthesis (MIPO) จึงทำให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนให้น้อยลง เสียเลือดน้อยลง และยังคงรักษาชีวภาพรอบๆ กระดูกที่หัก หรือหลอดเลือดไว้ได้มากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้มีการฟื้นตัวที่ไวขึ้น กระดูกมีโอกาสสมานตัวได้มากขึ้นหลังการผ่าตัด
        แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการชาบริเวณส่วนบนของหน้าอกจากแผลผ่าตัด หรือคลำได้รอยนูนของเหล็ก แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะลดโอกาสกระดูกไม่ติดหรือติดผิดรูปได้ การรักษาที่เป็นไปตามข้อบ่งชี้จะสามารถช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาแต่ละวิธีต่างก็มีข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป แพทย์จะทำการแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา ดังนั้นจึงควรปรึกษาและสอบถามรายละเอียดกับทางแพทย์ผู้ให้การรักษาโดยตรงก่อนอีกครั้งว่า ควรที่จะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีไหน แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และถ้าหากเลือกตัดสินใจรักษาวิธีอื่นผลจะเป็นอย่างไร เพื่อที่ท่านจะได้ทราบถึงวิธีการรักษาและให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ได้รับผลการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้



🔹บทความสุขภาพ🔹 
➮ระมัดระวังอุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะกระดูกหัก
➮เทคนิคการผ่าตัด โรคกระดูกและข้อ
➮เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีก
➮โรคกระดูกพรุน


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset