โรคอัลไซเมอร์ รู้ให้เร็ว ก่อนเสี่ยงภาวะเสื่อมรุนเเรง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
10-พ.ค.-2567
อัลไซเมอร์ เป็นปัญหาสุขภาพที่ผู้สูงอายุมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยจะสังเกตุจากพฤติกรรม และอารมณ์ที่เปลี่ยนไป มีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลา ไม่สามารถรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และใช้ภาษาผิดปกติ ซึ่งหากผู้สูงอายุที่บ้านของคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนสำคัญให้ระวังว่าอาจเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง

สาเหตุอาการอัลไซเมอร์
อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นภาวะหนึ่งของโรคสมองเสื่อม ที่พบมากถึง 60-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป  ซึ่งเกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อม และฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ และผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการสูญเสียความทรงจำแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นตามลำดับ โดยสัญญาณเริ่มแรกจะเริ่มจากการลืมเหตุการณ์ ลืมการสนทนาหรือกิจวัตรประจำวัน หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสีย การตัดสินใจ การวางแผน และการช่วยเหลือตนเอง จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และอาจเกิดการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้

ระยะของโรคอัลไซเมอร์
  • ระยะแรก (Early-Stage) ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ เริ่มด้วยความขี้หลงขี้ลืม   ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดไปหรือลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น   ย้ำคิดย้ำทำ  และถามคำถามเดิมๆ  ซ้ำๆ  ลังเล ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ได้ เริ่มเครียด และอารมณ์เสียง่าย
  • ระยะที่สอง (Middle-Stage) ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมายและไม่สามารถหาทางกลับบ้านเองได้ และส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือเกิดภาวะซึมเศร้า
  • ระยะที่สาม (Late-Stage) ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง และการเคลื่อนไหวช้าลง หรือไม่สามารถเดินเองได้


สังเกตอาการอย่างไร? ว่าเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์
  • มีการหลงลืมที่รบกวนชีวิตประจำวัน และหลงลืมวัน หรือเหตุการณ์สำคัญ
  • เสียความสามารถในการวางแผนหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่สามารถทำสิ่งต่างๆตามขั้นตอนได้
  • รู้สึกทำงานได้ลำบาก เพราะด้วยอาการที่หลงลืมทำให้ส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกับคนอื่น
  • รู้สึกสับสนกับสถานที่ เช่น เคยมาที่แล้วหรือยัง มาสถานที่นี้ทำไม มาแล้วต้องกลับไปยังไง และลืมว่าสถานที่ไปนั้นชื่อว่าอะไร
  • รู้สึกมีปัญหาในการค้นหาหรือใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน เช่น พูดช้า พูดซ้ำ วนๆไปมาหลายรอบในประโยคเดียวกัน
  • มีการแยกตัวออกจากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ไม่ชอบออกสังคม หรืออยากอยู่คนเดียว ทั้งๆที่ก่อนหน้าที่ชอบออกไปด้านนอก และพบปะเพื่อน
  • รู้สึกว่าอารมณ์ และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น สับสน วิตกกังวล และหวาดกลัว กับสิ่งรอบข้าง


ความแตกต่างระหว่างหลงลืมตามวัยกับโรคอัลไซเมอร์
หากเป็นการลืมตามช่วงวัยตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป สมองก็จะเริ่มทำงานแบบถดถอย ส่งผลให้ผู้สูงอายุลืมง่าย การตัดสินใจแย่ลง แต่ก็ไม่ได้แย่แบบผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากผู้สูงอายุจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น หรือนึกอย่างไรก็นึกไม่ออก ลืมแล้วลืมเลย หรืออาจถึงลืมชื่อคนในครอบครัว และลืมทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถอาบน้ำแต่งตัวได้เอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมักจะเป็นมากขึ้นตามระยะอาการ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มเหล่านี้แย่ลง ซึ่งครอบครัวจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และหากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เช่น อาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือซึมเศร้ามากเกินไป ก้าวร้าว หลงผิด เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
  • ซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง
  • แบบทดสอบการทำงานของสมองอย่างละเอียด
  • ประเมินภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วย
  • เจาะเลือด เช่น การทำงานของไทรอยด์และระดับวิตามินในเลือด
  • ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง เช่น MRI , CT Scan
  • ตรวจด้วย PET Scan (FDG, Amyloid, Tau PET Scan)


ซึ่งการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค อาการ และพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น และการดูแลที่เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมในระยะยาว ซึ่งจะต้องวางแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

คลินิกอายุรกรรม อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5188 - 5189