ตรวจภายใน สิ่งสำคัญของผู้หญิงทุกช่วงวัย
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4

การตรวจภายใน ผู้หญิงหลายคนยังรู้สึกเขินอายอยู่โดยเฉพาะสาวโสดที่ยังไม่ได้แต่งงาน และอาจกลัวว่าจะเจ็บหรือเป็นอันตรายต่ออวัยวะบางส่วนไหม และคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นหากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนอาจเสี่ยงเป็นโรคต่างๆได้ เนื่องจากไม่มีอาการเตือนในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อลุกลามหรือรุนแรงก็อาจแสดงเตือนขึ้นมา และอาจทำให้สายเกินที่จะแก้ไขได้อีกด้วย



ทำไมผู้หญิงต้อง ตรวจภายใน ?
เพราะการตรวจภายในสำหรับผู้หญิง จะเป็นทั้งการตรวจคัดกรอง การป้องกัน และการหารอยโรคจากอาการต่างๆ เช่น ปวดอุ้งเชิงกราม ตกขาว ปวดประจำเดือน โดยจะตรวจระบบสืบพันธุ์เพศหญิงตั้งแต่อวัยวะภายนอก ถึงอวัยวะภายใน เพื่อให้แน่ใจว่าอวัยวะเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เป็นปกติดี ซึ่งการตรวจภายในจะไม่ใช่แค่การตรวจเพื่อหาความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังสามารถตรวจโรคที่เกิดขึ้นกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิงได้อีกด้วย เช่น ช่องคลอดอักเสบ ประจำเดือนมาผิดปกติ เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งโรคเหล่านี้หากตรวจพบความผิดปกติในระยะเริ่มต้นก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ เพราะหากปล่อยไว้ให้ลุกลาม หรือรุนแรง ก็อาจทำให้คุณภาพชีวิตของคุณผู้หญิงแย่ลงได้ หรืออาจทำให้เสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต


ใครบ้างที่ควรตรวจภายใน ?

  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่อายุ 25 ปี หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 3 ปี
  • ผู้หญิงที่เคยผ่าตัดถุงน้ำรังไข่มาก่อน
  • ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็ง หรือเกี่ยวกับมดลูก รังไข่ และช่องคลอด
  • มีความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ ไม่มีประจำเดือน เคยมีประจำเดือนแล้วหายไปโดยไม่มีการตั้งครรภ์ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน
  • มีตกขาวผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น คัน หรือมีน้ำไหลออกทางช่องคลอด
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์


ตรวจภายใน เริ่มตรวจเมื่ออายุเท่าไหร่

ตรวจภายในสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย โดยไม่ต้องรอให้อายุถึง 25 ปี โดยแพทย์จะพิจารณาประวัติสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เคยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกไหม คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูกไหม เพื่อประเมินว่าควรเข้ารับบริการตรวจภายในบ่อยแค่ไหน

ซึ่งผู้เข้ารับบริการสามารถตรวจ Pap smear ร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจเจอรอยโรค แต่ในกรณีสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปี แพทย์จะเป็นผู้แนะนำว่าควรตรวจภายในต่อไปหรือไม่


ปวดประจำเดือนเป็นประจำ จำเป็นต้องตรวจภายในไหม
ในกรณีที่ปวดประจำเดือนรุนแรง หรือประจำเดือนมาผิดปกติ การตรววจภายในจะเป็นการตรวจค้นหารอยโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกาย ว่าอาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งทางนรีเวชไหม โดยแพทย์จะมีการตรวจอัลตร้าซาวด์ร่วมด้วย เพื่อให้ผลการตรวจวินิจฉัยมีความละเอียด แม่นยำมากขึ้น และสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ และต้องทำการรักษาทันที


ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ จำเป็นต้องตรวจภายในไหม
การตรวจภายในสำหรับผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนแพทย์จะเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกระทั่งความเป็นส่วนตัว โดยจะเลือกใช้เครื่องมือที่มีขนาดเล็ก หรือใส่น้ำยาหล่อลื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บ หรือปวดในขณะกำลังตรวจ ซึ่งในระหว่างตรวจผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกตึงๆ หรือเจ็บเล็กน้อย

ทั้งนี้ การตรวจภายในสำหรับผู้หญิงไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนก็จำเป็น เพราะการตรวจภายในไม่ได้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการตรวจโรคทางนรีเวชอื่นที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย

  • เนื้องอกมดลูก เป็นการเจริญเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกที่ผิดปกติเกิดได้ทั้งด้านนอกผนังมดลูก อยู่ในเนื้อมดลูกหรืออยู่ในโพรงมดลูก เนื้องอกมี 2 ชนิด คือ ชนิดธรรมดาและชนิดที่เป็นมะเร็ง
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญนอกเหนือจากภายในโพรงมดลูกปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วเยื่อบุโพรงมดลูก จะมีการหลุดลอกตามรอบประจำเดือน ส่งผลให้ขณะมีประจำเดือนอาจมีอาการปวดท้องรุนแรง
  • ถุงน้ำรังไข่ ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่เพื่อสร้างไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ของฝ่ายหญิง จะเป็นถุงน้ำที่โตขึ้นแล้วแตกทำให้เซลล์ไข่ไหลออกมา หลังจากนั้นถุงน้ำนี้ก็จะค่อยๆ ยุบตัวไปเอง
  • โรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเริม โรคพยาธิในช่องคลอดจากการติดเชื้อ หรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)


มือใหม่ต้องรู้ การเตรียมตัวก่อนขึ้นขาหยั่ง ตรวจภายใน

  • งดใช้ยาเหน็บ หรือใช้ยารักษาอาการช่องคลอดแห้ง (อย่างน้อย 72 ชม.)
  • ไม่จำเป็นต้องโกนขน
  • ตรวจภายในจะตรวจได้ หลังจากที่ประเดือนหมดสนิทก่อน
  • ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ หรืออาหารก่อนมาตรวจภายใน
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเข้ารับบริการ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย และไม่รัดแน่จนเกินไป

ซึ่งการตรวจภายในจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที โดยแพทย์จะส่งเซลล์ที่ได้ไปยังห้องปฏิบัติการ และส่งต่อไปอัลตร้าซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่จะขึ้นอยู่กับความผิดปกติของแต่ละรายบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่สามารถทราบผลภายในหนึ่งวัน ยกเว้นรอผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์


เพราะฉะนั้น เลิกกลัว เลิกอาย ตรวจภายใน ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด รวมถึงคุณผู้หญิงที่รู้สึกกังวลใจหรือไม่แน่ใจว่าจะเสี่ยงเป็นไหม การที่เข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยคลายคลวามกังวลได้ 



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
Line : Paolochokchai4