โรคกระดูกและข้อ ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
09-ต.ค.-2566
โรคกระดูกเเละข้อ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบเจอได้บ่อยเพราะเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ความเสื่อมถอยของร่างกายก็ย่อมตามมา โดยเฉพาะปัญหาโรคกระดูกและข้อที่เริ่มแสดงอาการชัดเจน และรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการเคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดการหกล้มที่เป็นอุบัติเหตุโดยไม่ทันตั้งตัวได้


ข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อที่มีการสึกหรอ และเสื่อมลงตามอายุ ซึ่งถือเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่า โรคข้อเข่าเสื่อมพบได้บ่อยขึ้นในผู้ที่ยังอายุน้อย โดยเฉพาะในช่วงวัยกลางคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของอายุ แต่เป็นเรื่องของการมีน้ำหนักตัวเกิน และการใช้ข้อเข่ามากเกินไปหรือใช้ผิดท่าผิดวิธี จนทำให้เกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ
อาการโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการเริ่มจากปวดเป็นๆ หายๆ แต่เมื่อได้พักการใช้เข่าอาการปวดก็จะทุเลา แต่หากกลับมาใช้งานก็อาจปวดขึ้นมาได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการทรงตัว หรือเดินไม่ได้ในอนาคต
  • เข่ามีเสียงกรอบแกรบ
  • ข้อเข่าติด ฝืด ตึง แข็ง
  • เสียวหัวเข่า และกดเจ็บ
  • ข้อเข่าโก่งงอ ต้นขาลีบ ข้อเข่าผิดรูป

สะโพกเสื่อม (Hip Osteoarthritis)
เป็นการอักเสบของข้อสะโพกที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่คลุมพื้นผิวของข้อเสื่อมสลายไป ทำให้มีอาการปวดบริเวณขาหนีบหรือต้นขาด้านหน้า มีการเคลื่อนไหวข้อสะโพกที่ติดขัด อาการมักจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ แต่จะดีขึ้นเมื่อได้พัก ซึ่งอาจส่งผลต่อการชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถเดินขึ้น หรือลงบันได และอาจปวดรุนแรงจนไม่สามารถนอนหลับลงได้ ซึ่งในบางรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจพบกับปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากันตามมาได้
อาการโรคข้อสะโพกเสื่อม
มักค่อยเป็นค่อยไป และแย่ลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถเดินได้ตามปกติ
  • รู้สึกติดขัดที่ข้อสะโพก ทำให้เวลาเดินหรือก้มตัวอาจลำบาก
  • รู้สึกตึงสะโพกเมื่อลุกหรือนั่ง เจ็บเวลาเดินลงน้ำหนักและขึ้นลงบันไดไม่สะดวก ในบางรายอาจจะมีอาการข้อสะโพกไม่มั่นคง รู้สึกข้อสะโพกติด และมีขาสั้นยาวไม่เท่ากันได้
  • รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหวสะโพก เช่น เมื่อเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ มักรู้สึกบริเวณขาหนีบ ต้นขา และปวดร้าวลงไปบริเวณหัวเข่าร่วมด้วย แต่จะไม่มีอาการชาหรือร้าวลงไปที่ปลายเท้า

กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis)
การเกิดแรงกดบนหมอนรองกระดูก และข้อต่อของกระดูกสันหลังที่โค้งงอมาเป็นเวลายาวนาน จนเกิดการเสื่อมสภาพ ร่างกายจึงสร้างกระดูกบริเวณข้อต่องอกออกมา จนไปเบียด หรือกดทับเส้นประสาท และไขสันหลัง โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันกลับพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากลักษณะการทำงานที่นั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงไม่มีเวลาออกกำลังกายเท่าที่ควร
อาการกระดูกสันหลังเสื่อม
มักจะปวดหลังแบบเป็น ๆ หาย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจประสบกับอาการปวดเรื้อรัง หรือในบางครั้งอาการปวดอาจจะรุนแรงขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทาง
  • ปวดบั้นเอว
  • กระดูกสันหลังติดแข็งและขยับตัวลาบาก
  • มือ แขน เท้า หรือขา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมีอาการชา อ่อนแรง หรือ เป็นเหน็บ

ทั้งนี้ ปัญหากระดูกและข้อ จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล รวมถึงการดูแลสุขภาพกระดูกและข้อ เพื่อช่วยป้องกัน และเสริมสร้างความเเข็งเเรงของกระดูกและข้อ เพื่อช่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างแข็งแรงอีกครั้ง


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อาคาร 1 ชั้น 1

โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 1102-1105

Line id : @Paolochokchai4