ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยง "โรคหัวใจ"
โรงพยาบาลเปาโล
10-พ.ย.-2565
โรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ที่เป็นโรคยอดฮิตของผู้สูงวัย หลายคนคิดว่าโรคเหล่านี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร เลยไม่ต้องระวังอะไรมาก เราขอบอกว่าไม่จริง! เพราะโรคเรื้อรังเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้คุณเกิด “โรคหัวใจ” ได้

“เบาหวาน” ส่งผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
จากเบาหวานเป็นความดัน จากความดันเป็นโรคหัวใจ หลายคนเข้าใจว่าเบาหวานเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่จริงๆ แล้วกลับพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักเสียชีวิตเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ… มากเป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว! เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจะส่งผลให้หลอดเลือดแดงเกิดความผิดปกติและเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้แล้วเบาหวานยังนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ อีกหลายโรค

“ความดันโลหิตสูง” ทำให้หัวใจทำงานหนัก

เมื่อไหร่ที่ระดับความดันโลหิตสูงจะส่งผลให้หัวใจต้องบีบตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดหัวใจโต หลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งตัวขึ้น ส่งผลให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดและหัวใจวายได้ในที่สุด นอกจากนี้อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดในสมองตีบตัน หรือแตก ทำให้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน

“ความดันโลหิตสูง” เสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ

หากปล่อยให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงนาน ๆ แล้วไม่รักษา อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา กว่า 90% เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ความดันในหลอดเลือดแดงสูงขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานหนักและหนาตัวขึ้น เลือดดีจากปอดและหัวใจห้องบนซ้ายไม่สามารถไหลลงหัวใจห้องล่างซ้ายได้ ส่งผลทำให้หัวใจโตและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด

“ไขมันในเลือดสูง” เสี่ยง! กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมากมาย เพราะระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้

หากมีอาการแบบนี้…ควรรีบพบแพทย์
รู้สึกเจ็บหนักๆ เหมือนมีอะไรมาทับหรือรัดบริเวณกลางหน้าอกหรือใต้กระดูกกลางหน้าอก อาจมีร้าวไปบริเวณคอ กราม ไหล่ และแขนทั้ง 2 ข้างโดยเฉพาะข้างซ้าย เป็นมากขณะออกแรง
  • เหนื่อยง่ายขณะออกแรงหรือออกกำลังกายที่เกิดขึ้นเฉียบพลันภายใน 1–2 สัปดาห์ หรือที่เกิดขึ้นเรื้อรังเกินกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป
  • เหนื่อย หายใจหอบ นอนราบไม่ได้ แน่นอึดอัด หายใจเข้าไม่เต็มปอด
  • หน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลม ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากมีความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน

  • การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่แล้ว… การตรวจสุขภาพก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากเกิดความผิดปกติใดๆ จะได้รักษาอย่างทันท่วงที