-
ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตัวร้ายต้นเหตุของมะเร็งตับ
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
06-มิ.ย.-2566

ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตัวร้ายต้นเหตุของมะเร็งตับ

ไวรัสตับอักเสบ เป็นเชื้อโรคตัวร้ายที่หลายคนคิดว่าอยู่ไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ เพราะเป็นเชื้อที่ติดต่อง่าย ทั้งยังก่อให้เกิดโรคทางตับได้มากมาย แต่ยังดีที่ว่า! เรายังมีทางป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเกิดโรคได้ ด้วยการฉีด ‘วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ’ นั่นเอง

 


รู้จักไว้ “ไวรัสตับอักเสบ”สาเหตุโรคตับ

ไวรัสตับอักเสบ เป็นไวรัสที่เป็นอันตรายต่อตับและเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรคทางตับมากมาย ไวรัสตับอักเสบมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ, บี, ซี, ดี และอี ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะการติดต่อและอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป แต่ไวรัสตับอักเสบบีและซี จะเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตที่สูงมากด้วย

 

การแพร่กระจายและติดต่อของไวรัสตับอักเสบ

การแพร่กระจายหรือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด จะแตกต่างกันไปดังนี้...

  • ไวรัสตับอักเสบเอ และอี : มักติดต่อผ่านทางการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส หรือการสัมผัสถูกอุจจาระที่มีเชื้อโรคปนอยู่
  • ไวรัสตับอักเสบบี และซี : ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ สารคัดหลั่ง หรือทางเลือด เช่น หมอหรือพยาบาลถูกเข็มฉีดยาที่มีเชื้อไวรัสตำมือ การสักตามร่างกาย การเจาะหูหรือเจาะอวัยวะต่างๆ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ติดสารเสพติด เป็นต้น
นอกจากนี้ไวรัสตับอีกเสบบียังสามารถติดจากมารดาสู่ทารกได้อีกด้วย แต่ปัจจุบันเริ่มพบในจำนวนที่น้อยลง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีให้กับทารกเกิดใหม่ทุกราย

 


อาการหลังได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ

หลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ตับจะเริ่มทำงานผิดปกติ และเกิดภาวะทางตับต่างๆ เช่น ตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคตับแข็งที่จะก่อให้เกิดเป็นมะเร็งตับในอนาคตได้ ทั้งนี้ในแต่ละภาวะก็จะมีอาการแตกต่างกันไป

ภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน : อาการของตับอักเสบเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใดก็ตาม จะมีอาการคล้ายกันคือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง ร่วมกับการมีคลื่นไส้และอาเจียน โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ได้รับและสภาวะร่างกายของผู้ป่วย

สำหรับการเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบเอและอี ร่างกายจะดีขึ้นเรื่อยๆ และสามารถหายขาดพร้อมมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นได้เอง แต่หากเกิดจากไวรัสตับอักเสบบีและซี อาจส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังต่อไปได้

ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง : เป็นภาวะที่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ แต่บางช่วงอาจไม่มีอาการใดๆ เลยได้เช่นกัน โดยเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ จะค่อยๆ ทำลายเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดเป็นภาวะตับแข็ง และเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งตับ

 

ลดความเสี่ยงอย่างไร? ให้ห่างไกลไวรัสตับอักเสบ

เราสามารถลดความเสี่ยงที่อาจทำให้ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบได้หลายวิธี เช่น

  1. หลีกเลี่ยงการสักผิวหนัง การเจาะอวัยวะต่างๆ ตามร่างกาย การใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น หรือการใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน กรรไกร เป็นต้น
  2. หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน และควรสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  3. บุคลากรทางการแพทย์ควรสวมเครื่องป้องกันต่างๆ เช่น ถุงมือ แว่นตา หรือชุดคลุม หากต้องสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
  4. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งจะสามารถสร้างภูมิต้านทานที่ป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต แต่ในส่วนของไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนชนิดนี้





ใครบ้าง? ควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

แม้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี จะได้รับตั้งแต่ตอนเป็นทารก แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ทำให้ร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทานต่อไวรัส ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่

  • ผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ หรือมีภาวะตับอักเสบ
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ที่กำลังจะแต่งงาน
  • ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไต หรือจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน หรือยาเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง
  • ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  • บุคลากรทางการแพทย์

 

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ

แต่ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีสามารถป้องกันได้เพียงเชื้อไวรัสตับชนิดบีเท่านั้น หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วย

บทความโดย

นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์

แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ






สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

แผนก อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2420-2421
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn