-
ส่องกล้องทางเดินอาหาร รู้ชัด รักษาไว วินิจฉัยโรคชัดเจน
อาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารมักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจนออกมา ทำให้คนส่วนใหญ่ปล่อยละเลยจนอาการของโรคมีความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ยากต่อการรักษาในภายหลัง ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารจึงมีส่วนช่วยคัดกรองรอยโรคที่อาจแฝงตัวอยู่ในร่างกายได้ก่อนที่อาการจะลุกลาม
ในปัจจุบัน การตรวจและวินิจฉัยโรคระบบทางเดินอาหารนั้นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่แพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจนด้วยตาตนเอง แบบที่ไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดให้เกิดรอยแผล ที่เรียกว่าเทคโนโลยี “การส่องกล้องทางเดินอาหาร”
ทำความรู้จักกับ “การส่องกล้องทางเดินอาหาร”
การส่องกล้องทางเดินอาหาร คือ การใช้ท่อที่มีขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่นโค้งงอได้ ส่องเข้าไปดูบริเวณอวัยวะภายในที่เป็นระบบทางเดินอาหาร โดยปลายท่อจะมีกล้องที่เป็นเลนส์ขยายภาพ พร้อมกับมีดวงไฟขนาดเล็กเพื่อส่องดูความผิดปกติภายใน และส่งภาพมายังจอรับภาพ
การวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ แพทย์จะสามารถเห็นความผิดปกติที่ก่อให้เกิดโรคหรือความเจ็บป่วยภายในระบบทางเดินอาหารของเราได้ชัดเจนด้วยตา ซึ่งเป็นการตรวจที่เห็นได้ละเอียดที่สุดในปัจจุบัน และในบางกรณีหรือบางภาวะของโรคยังสามารถทำการรักษาได้ทันทีขณะตรวจส่องกล้องอีกด้วย
ประเภทของการส่องกล้องทางเดินอาหาร...
การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) :
เป็นการใช้กล้องตรวจหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยสอดท่อขนาดเล็กผ่านทางปากเข้าไปยังหลอดอาหาร เพื่อดูความผิดปกติทั้งหมดตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งความผิดปกติที่เกิดในบริเวณนี้มักทำในผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก ปวดท้องเรื้อรัง หรือปวดท้องจุกแน่นลิ้นปี่โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ บางรายอาจมีอาเจียนเป็นเลือด การส่องกล้องยังสามารถตรวจหาแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกในช่องท้อง หรือหาเนื้องอกในระบบทางเดินอาหารได้อีกด้วย
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) :
เป็นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยสอดท่อขนาดเล็กผ่านทางทวารหนักผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ทั้งหมด อาจรวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลายด้วย ซึ่งมักทำในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องเสียหรือท้องผูกเป็นประจำ หรือท้องเสียสลับท้องผูก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมีเลือดปน คลำพบก้อนในท้อง รวมถึงผู้ที่มีอาการเสี่ยงของมะเร็งหรือติ่งเนื้อในลำไส้ ซึ่งการตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ตรวจในผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป โดยควรได้รับการตรวจทางทวารหนักทุก 5-10 ปี เพื่อค้นหารอยโรคที่อาจเกิดขึ้นในลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบ กระเปาะลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกลำใส้ใหญ่ เป็นต้น
การส่องกล้องทางเดินอาหารดีอย่างไร?
การส่องกล้องทางเดินอาหาร นอกจากจะเป็นการตรวจวินิจฉัยได้ชัดเจนและละเอียดแล้ว การตรวจด้วยวิธีนี้ยังมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากแพทย์สามารถวิเคราะห์โรคในขณะส่องกล้องได้เลย หากพบจุดที่มีเลือดออกก็สามารถจี้หยุดเลือดได้ กรณีแพทย์พบความผิดปกติในส่วนใดของระบบทางเดินอาหารก็สามารถตัดชื้นเนื้อได้ทันที แล้วนำไปส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ หากเป็นติ่งเล็กๆ ก็ทำการรักษาได้ทันทีโดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเข้าทางช่องท้องอีก
ข้อบ่งชี้สำหรับผู้ที่ควรตรวจเช็กระบบทางเดินอาหาร
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหาร
เราควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาในปริมาณที่พอดี ลดความเครียด และออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีสวนช่วยให้ระบบทางเดินอาหารของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงโรคได้
นอกจากนี้ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารของตนเองก็มีส่วนช่วยในการดูแล ป้องกัน หรือรักษาให้เป็นปกติให้มากที่สุด แต่หากมีอาการที่น่าสงสัย รู้สึกถึงความผิดปกติ หรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคทางระบบทางเดินอาหาร ก็ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
บทความโดย
นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์
แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ