-
วินิจฉัยความเสี่ยงของหัวใจให้ปลอดภัย...ด้วยการตรวจ EST
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
24-ม.ค.-2567

วินิจฉัยความเสี่ยงของหัวใจให้ปลอดภัย...ด้วยการตรวจ EST

อาการเจ็บหน้าอกที่มักเกิดขึ้นตอนที่ร่างกายกำลังได้ใช้กำลัง อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นจาก “โรคหัวใจ” ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มักไม่แสดงอาการชัดเจน ดังนั้นจึงมีการตรวจคัดกรองโรคหัวใจที่เป็นการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ EST

 

เจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยหอบไม่ทราบสาเหตุ...รู้ได้ด้วยการตรวจ EST !

การตรวจ EST หรือการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) เป็นการทดสอบสมรรถภาพของหัวใจโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อดูว่าหัวใจมีภาวะขาดเลือดหรือไม่ เนื่องจากขณะที่ร่างกายกำลังออกกำลังกายอย่างหนัก ร่างกายจะสร้างแรงเค้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจจะต้องการเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงให้เพียงพอ หากหัวใจมีเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจจะมีอาการแน่นหน้าอก  ความดันเลือดลดลง หัวใจเต้นผิดปกติ หรือมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 


ขั้นตอนการตรวจ EST

การตรวจ EST มีวิธีทดสอบหลักๆ อยู่ 2 วิธี คือ การเดินสายพาน (Treadmill) และการปั่นจักรยาน (Cycling) แต่วิธีที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่คือ การเดินสายพาน (Treadmill) โดยขั้นตอนการตรวจมีดังนี้

  • ผู้เข้ารับบริการจะต้องติดอุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หน้าอก แขน และขา เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัตราการเต้นของหัวใจ
  • เจ้าหน้าที่นำผู้เข้ารับบริการขึ้นสายพานและเริ่มทำเดินช้าๆ
  • ระหว่างทำการทดสอบเครื่องสายพานจะเพิ่มระดับความเร็วและความชันตามลำดับ และวัดความดันโลหิตเป็นระยะ โดยมีเจ้าหน้าที่และแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ควบคุมและดูแล

หากพบว่าขณะทดสอบ ผู้เข้ารับบริการมีความผิดปกติทั้งอาการทางกายภาพ เช่น แน่นหน้าอก  เวียนศีรษะ หรือหอบเหนื่อยรุนแรง หรือผลจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติ การทดสอบจะสิ้นสุดลงโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 20-30 นาที

 

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ EST

  • งดน้ำ งดอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนการเข้ารับการตรวจ 
  • งดเครื่อมดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เนื่องจากคาเฟอีกอาจส่งผลรบกวนต่อการแปรผลการทดสอบ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • หากผู้ป่วยมียาที่รับประทานเป็นประจำ ต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ก่อนการตรวจ เนื่องจากฤทธิ์ของยาอาจมีผลต่อการตรวจได้
  • ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดให้นำยาพ่นมาด้วยในวันที่เข้ารับการตรวจ
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรแจ้งแพทย์ที่รักษาโรคเบาหวานของตนเอง เพื่อเตรียมยาให้เหมาะสมก่อนวันที่เข้ารับการตรวจ

 


ประโยชน์ของการตรวจ EST

  • สามารถวินิจฉัยแยกโรคสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยว่าอาการเหนื่อยง่าย หรือแน่นหน้าอกมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่
  • สามารถประเมินผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม ว่ามีความจำเป็นจะต้องรับการตรวจเพิ่มเติมหรือทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
  • เพื่อหาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มักจะแสดงออกมาขณะที่ผู้ป่วยกำลังออกกำลังกาย หรือประเมินและหาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
  • เพื่อประเมินประสิทธิภาพความสามารถสูงสุดของร่างกายและหัวใจในขณะการออกกำลังกาย
  • ใช้ตรวจสอบผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจว่ามีภาวะอื่นแทรกซ้อนหรือไม่ เพราะในสภาวะปกติผู้ป่วยจะไม่ได้ออกแรงมากนักจึงไม่มีอาการแสดงออกมา

 

ใครบ้าง...ที่ควรตรวจ EST

การตรวจ EST เป็นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจที่มีความจำเพาะ มักเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติซึ่งอาจมีความสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือเหนื่อยมากเมื่อออกกำลังกาย รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด เช่น

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน
  • ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ

 

เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อร่างกาย ซึ่งมีการทำงานตลอดเวลา หากเกิดความผิดปกติอย่างเฉียบพลันอาจทำให้เกิดอันตรายที่ถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจในผู้ที่สมควรได้รับการตรวจ หรือผู้ที่สงสัยว่ามีความผิดปกติทางระบบหัวใจ จึงเป็นเหมือนการสร้างเกราะป้องกันให้ร่างกาย เพราะรู้ไว้ก่อนสามารถแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

บทความโดย
นายแพทย์สรศักดิ์ เอกอมรพันธ์
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียด
แผนก อายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด อาคาร 1 ชั้น 3
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2325-2326

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn