-
อาการเลือดออกในทางเดินอาหาร...สัญญาณเตือนที่ไม่ควรละเลย
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
28-พ.ย.-2566

อาการเลือดออกในทางเดินอาหาร...สัญญาณเตือนที่ไม่ควรละเลย

สีของอุจจาระของเรา หากสังเกตดีๆ ก็จะสามารถระบุอาการของโรคบางโรคได้ ซึ่งในวันนี้เราจะมาพูดถึงอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ จากสีของอุจจาระหรือลักษณะของอาเจียน โดยหากปล่อยอาการไว้ไม่ทำการรักษา อาจส่งผลให้ชีพจรเต้นเร็ว หมดสติ และช็อกได้

 


อุจจาระแบบไหน ส่ออาการ “เลือดออกในทางเดินอาหาร”

หากพบว่าอุจจาระมีสีดำหรือมีสีแดงเลือดสดปนออกมาด้วย ก็อาจเป็นไปได้ว่า มีสาเหตุมาจากอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก ส่วนอาการอาเจียนแล้วมีเลือดสีแดงสดหรือสีดำเข้มปนมาด้วย ร่วมกับมีอาการปวดท้อง อาจเกิดจากระบบทางเดินอาหารผิดปกติได้เช่นเดียวกัน และหากมีเลือดออกปนมามากจนผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์โดยทันที เพราะหากเสียเลือดในปริมาณมากจะทำให้ระบบการหมุนเวียนเลือดในร่างกายผิดปกติ จนร่างกายเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้

 

สาเหตุของอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร

มักเกิดได้หลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับบริเวณและตำแหน่งของอวัยวะที่มีเลือดออก เช่น เกิดภาวะมีกรดในกระเพาะมากเกินไป ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย จึงยิ่งทำให้หลอดอาหารอักเสบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาการเลือดออกในทางเดินอาหารยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น

  1. การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารฉีกขาด และทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือในกรณีผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังมักเกิดอาการเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร จนหลอดอาหารฉีกขาดและมีเลือดออกได้เช่นกัน

 

  1. โรคเกี่ยวกับลำไส้ หากมีการอักเสบของเยื่อบุลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่อักเสบ มีอาการติดเชื้อในลำไส้ เส้นเลือดบริเวณทวารหนักและลำไส้เล็กส่วนล่างโป่งพอง มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือริดสีดวงทวาร หากอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้น อาจทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็งในทางเดินอาหารได้

 


เลือดออกในทางเดินอาหาร...มีขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?

ขั้นตอนที่ 1. แพทย์จะทำการตรวจเลือด ลักษณะของเส้นเลือด การทำงานของตับ ตรวจสีและลักษณะของอุจจาระ เพื่อหาความผิดปกติของเลือดที่ปนออกมา

ขั้นตอนที่ 2. แพทย์จะใช้วิธีการอย่างละเอียด ซึ่งประกอบไปด้วย

  • การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อในระหว่างส่องกล้อง (Biopsy) เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจลำไส้เล็กด้วยการกลืนกล้องแคปซูลขนาดเท่าเม็ดยา ผู้ป่วยจะกลืนแคปซูลลงไป กล้องจะถ่ายภาพอวัยวะภายในให้แพทย์ตรวจหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารที่อาจมีเลือดปนออกมา
  • การฉีดสารทึบรังสีผ่านหลอดเลือดแดง เพื่อตรวจหาจุดที่มีรอยแตก รอยปริ หรือความผิดปกติต่างๆ ของเส้นเลือด
  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) บริเวณช่องท้อง
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) โดยใช้เครื่องมือที่คล้ายท่อขนาดเล็ก ที่มีกล้องติดอยู่ส่วนปลายเข้าไปทางทวารหนัก ใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy) คล้ายกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แต่มีความสามารถในการรักษาภาวะเลือดออกที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรงได้
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการอาเจียนเป็นเลือด แพทย์จะนำสายสวนเข้าทางจมูกและล้างกระเพาะอาหาร เพื่อตรวจหาจุดสังเกตของอาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

 

เลือดออกในทางเดินอาหาร...การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล

กระบวนการรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารจะขึ้นอยู่กับอาการและโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละราย โดยการรักษาสามารถแบ่งออกได้หลายวิธี ดังนี้

  1. การให้ยาบางชนิด

เพื่อเป็นการลดกรดในกระเพาะ ไม่ให้มีมากเกินไปจนไปกัดแผลในกระเพาะ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น รวมถึงการให้ยากำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobacter pylori) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลซ้ำ

  1. การให้เลือด หรือให้น้ำเกลือ

จะให้ตามลักษณะอาการของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เสียเลือดมากเกินไป แต่ในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด จำเป็นต้องหยุดการใช้ยาทันทีเพื่อดำเนินการรักษาต่อไป

  1. การส่องกล้อง

ในผู้ป่วยที่เสียเลือดมากจนอยู่ในภาวะวิกฤต อาจทำให้มีอาการช็อก และเกิดภาวะไตวายได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีส่องกล้องอาจมีการใช้ยาฉีดผ่านเข็มที่ใช้สอดกล้องเข้าไป ใช้ความร้อนจี้บริเวณที่มีเลือดออก และใช้คลิปหนีบหลอดเลือดเพื่อห้ามเลือด หรือการใช้ห่วงยางรัดหลอดเลือด

 


การส่องกล้องทางเดินอาหารดีอย่างไร?

การส่องกล้องทางเดินอาหาร นอกจากจะเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ชัดเจนและละเอียดแล้ว การตรวจด้วยวิธีนี้แพทย์จะสามารถวิเคราะห์โรคในขณะส่องกล้องได้ในทันที หากพบจุดที่มีเลือดออกก็สามารถใช้ความร้อนจี้ห้ามเลือดได้ และในกรณีที่แพทย์ตรวจพบความผิดปกติในส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหารก็สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมานำส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ หากเป็นเพียงติ่งเล็กๆ ก็สามารถทำการรักษาได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลผ่านทางช่องท้องอีก

 

ฉะนั้น หากไม่อยากเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารจนร่างกายเสื่อมสภาพ การดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ร่วมกับตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ เพื่อรู้ทันสัญญาณเตือนของร่างกายได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะสายเกินรักษา



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2420-2421
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn