ไขข้อข้องใจ...ทำไมต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก?
เมื่อพูดถึง "มะเร็งปากมดลูก" หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้ว มะเร็งปากมดลูกคือโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ เพราะแม้มีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียว ก็สามารถติดเชื้อที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้
การตรวจมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยิ่งหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรักษา ดังนั้นเรามาดูกันว่า ทำไมเราต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก และมีวิธีการตรวจแบบใดบ้าง?
ทำไมต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก?
การตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง การรักษาจะสามารถทำได้ง่ายกว่า และประสิทธิภาพการรักษาจะสูงถึงเกือบ 100% ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นวิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง
กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก
- ผู้ที่พบว่าตัวเองติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกสูง
- เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย เนื่องจากเนื้อเยื่อปากมดลูกยังอ่อนไหว ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- มีคู่นอนหลายคน สามารถเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ HPV จากการมีเพศสัมพันธ์หลายคู่
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยในผู้ติดเชื้อ HIV หรือรับยากดภูมิ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ที่มากกว่าคนทั่วไป
- ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า
- การใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน (มากกว่า 5 ปี) อาจเพิ่มความเสี่ยงแต่ลดลงได้เมื่อหยุดใช้
- การคลอดบุตรหลายครั้ง (มากกว่า 3 คน) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกจากการตั้งครรภ์และคลอด
- มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก หากมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งปากมดลูก ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงในครอบครัวก็จะเพิ่มขึ้น
- ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเป็นประจำ โอกาสในการพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นก็จะลดลง ซึ่งอาจทำให้การรักษาในระยะที่รุนแรงยากขึ้น
มีวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบไหนบ้าง?
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) : เป็นวิธีการตรวจที่ได้รับความนิยมและใช้กันมายาวนาน โดยเป็นการตรวจเก็บเซลล์จากปากมดลูกเพื่อหาความผิดปกติ เหมาะสำหรับผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง วิธีนี้ควรตรวจเป็นประจำทุก 3 ปี
- การตรวจ HPV DNA (HPV DNA Test) : การตรวจนี้จะมุ่งเน้นไปที่การค้นหาการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หากผลการตรวจแสดงว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ แพทย์จะทำการตรวจติดตามเพิ่มเติมเพื่อหาความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง
- การส่องกล้องปากมดลูก (Colposcopy) : เป็นการใช้กล้องส่องขยายดูปากมดลูกเพื่อตรวจหาความผิดปกติอย่างละเอียดเพิ่มเติม หากพบว่าการตรวจ Pap Smear มีความผิดปกติหรือพบการติดเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูง และหากพบความผิดปกติในปากมดลูกที่พบจากการส่องกล้องปากมดลูก แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อนำตรวจสอบว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือมีความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งที่ควรจะได้รับการรักษาแล้วหรือไม่
- การตรวจด้วยสารละลายอะซิติก (VIA : Visual Inspection with Acetic Acid) : เป็นการใช้สารละลายอะซิติก ตรวจบนปากมดลูกเพื่อดูว่ามีเซลล์ที่อาจกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ หากพบเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณที่ตรวจจะกลายเป็นสีขาว โดยการตรวจด้วยวิธีนี้เป็นการตรวจที่ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสูง จึงเหมาะกับพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด
ลดความเสี่ยงอย่างไร...ให้ปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูก
วิธีดูแลและการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้ เพียงแค่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV : เป็นที่ทราบกันดีในปัจจุบันว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ดังนั้นการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี สำหรับเด็กผู้หญิงที่มีอายุ 9-14 ปีนั้น การฉีดวัคซีนจะทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้สูง และอยู่ได้เป็นเวลานาน ดังนั้นในเด็กหญิงวัยนี้ การฉีดเพียง 2 เข็ม (ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน) ก็สามารถป้องกันการได้รับเชื้อ HPV ได้สูงพอๆ กับวัยผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ที่ฉีด 3 เข็ม (ภายในระยะเวลา 6 เดือน) โดยปัจจุบัน วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV มี 2 แบบ คือ ชนิด 4 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์ ซึ่งวัคซีน 9 สายพันธุ์ มีประสิทธิภาพการป้องกันการได้รับเชื้อ HPV สูงกว่าเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้สูงมาก แต่ก็ยังไม่ถึง 100% ดังนั้น ผู้หญิงไม่ว่าจะวัยใดที่แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนครบจำนวนแล้ว ก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 2-3 ปี ตามคำแนะนำมาตรฐานเช่นเดียวกัน
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ : ไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ HPV DNA หรือด้วยสารละลายอะซิติก การตรวจเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่สามารถคัดกรองและป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงที โดยสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21-65 ปี
- การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก เช่น
- การใช้ถุงยางอนามัย : การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ HPV ซึ่งเป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้อย่างมาก
- ไม่มีคู่นอนหลายคู่ : การมีคู่นอนหลายคนสามารถเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HPV ได้ ยิ่งมีคู่นอนมากเท่าไหร่ โอกาสก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น
- ลด ละ เลิกบุหรี่ : การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูก
นอกจากนี้การดูแลร่างกายให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือผ่อนคลายจากความเครียด การปฏิบัติตามวิธีเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกและยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย
การตรวจมะเร็งปากมดลูกทำให้เจ็บหรือไม่?
สำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อย แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรง แพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษ สเปคคูลัม (Speculum) เพื่อให้มองเห็นปากมดลูก และเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ ใช้เวลาทำเพียงไม่กี่นาที และไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่ผลจากการตรวจสามารถทำให้รู้ถึงความเสี่ยงและปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูกได้ในระยะยาว
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม แต่เป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก เพราะเป็นวิธีที่ช่วยคัดกรองโรคร้ายในร่างกาย รวมถึงการรับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ก็จะสามารถเพิ่มเกราะป้องกันให้กับร่างกาย และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ก็จะทำให้คุณห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูก
บทความโดย
นายแพทย์สุนำโชค ศรีใจพระเจริญแพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่