-
เรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้...จากภาวะครรภ์เสี่ยง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
18-ก.ค.-2567

เรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้...จากภาวะครรภ์เสี่ยง

คุณแม่หลายท่านที่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์อาจดีใจเมื่อรู้ว่ากำลังจะได้เป็นแม่คนจนหลงลืมว่าการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะที่เรียกว่า “ภาวะครรภ์เสี่ยง” ซึ่งเป็นภาวะที่อาจส่งผลอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ หากไม่ได้รับการดูแลจากสูตินรีแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น การที่คุณแม่รู้เท่าทันถึงภาวะครรภ์เสี่ยงก็จะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งในขณะตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด

 


ภาวะครรภ์เสี่ยง คือ...

ภาวะครรภ์เสี่ยง คือ ภาวะที่การตั้งครรภ์ครั้งนั้นๆ มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติที่จะเกิดปัญหาทั้งกับแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุของคุณแม่ ปัจจัยสุขภาพของคุณแม่ ปัจจัยทางพันธุกรรม หรือสภาพแวดล้อม หากปล่อยให้เกิดภาวะนี้แล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสูตินรีแพทย์ อาจส่งผลอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิด “ภาวะครรภ์เสี่ยง”

ปัจจัยที่พบได้บ่อยที่สุดที่จะทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยง คือ อายุของคุณแม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่าอายุของคุณแม่ยิ่งมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะมีมากขึ้นตาม แต่ในความจริงแล้วไม่ใช่แค่เพียงอายุมากเท่านั้น คุณแม่อายุน้อยที่ตั้งครรภ์ก็สามารถก่อให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยงได้

โดยกลุ่มเสี่ยงของอายุคุณแม่ที่ก่อให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยง คือคุณแม่ที่อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ซึ่งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เสี่ยงได้ ดังนั้นหากรู้ว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ควรได้รับคำแนะนำจากสูตินรีแพทย์อย่างถูกต้องและใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

 


ประเภทของภาวะครรภ์เสี่ยง

การเกิดภาวะครรภ์เสี่ยงสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท โดยสาเหตุส่วนใหญ่สามารถจำแนกได้ดังนี้

ภาวะครรภ์เสี่ยงที่เกิดจากแม่ :

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจ
  • โรคไต
  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์

 

ภาวะครรภ์เสี่ยงที่เกิดจากการตั้งครรภ์ :

  • การตั้งครรภ์หลายทารก (แฝด)
  • การตั้งครรภ์ในอายุที่น้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
  • มีประวัติการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก

 

ภาวะครรภ์เสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก :

  • การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • การใช้ยาเสพติดทุกชนิด
  • มีการบริโภคโภชนาการที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

 


การดูแล “ภาวะครรภ์เสี่ยง”

การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ : คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพกับสูตินรีแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก หรือเรียกว่าการฝากครรภ์

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : ลดการใช้สารเสพติด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

การดูแลโภชนาการ : รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน

การพักผ่อนที่เพียงพอ : พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด

การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ : ปฏิบัติตามคำแนะนำและการรักษาของแพทย์ที่ดูแลครรภ์อย่างเคร่งครัด

 

             จะเห็นได้ว่าการตั้งครรภ์ หากมีการเตรียมพร้อมอย่างถูกต้องและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดก็จะช่วยให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัยและสมบูรณ์ โดยหากมีการวางแผนที่จะมีบุตร ควรมาปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนการมีบุตร เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียด และหากรู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกอย่างสำเร็จไปได้ด้วยดี พร้อมให้ลูกน้อยลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย

 

บทความโดย

แพทย์หญิงญัฐณิชา สิมะโรจนา

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ





สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โทร.02-3632-000 ต่อ 2201-2202
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn