-
ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ สำคัญกว่าช่วงไหนๆ
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
23-มี.ค.-2566

ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ สำคัญกว่าช่วงไหนๆ

การตั้งครรภ์ ไม่ใช่เพียงการมีเด็กอยู่ในครรภ์เท่านั้น แต่การตั้งครรภ์ยังส่งผลต่อร่างกายของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิต้านทานในร่างกาย ระบบขับถ่าย ระบบผิวหนัง โครงสร้างร่างกาย รวมถึงสภาพจิตใจและอารมณ์ต่างๆ

ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงต้องรู้วิธีการดูแลตนเอง เพื่อให้ตลอดการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น และมีสุขภาพดีทั้งคุณแม่และคุณลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ‘ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์’ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญกว่าช่วงไหนๆ เลยทีเดียว

อาการที่คุณแม่พบได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

- มีอาการท้องอืด ท้องบวม หรือหน่วงท้องน้อย

- มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลง

- มีอาการแพ้ คลื่นไส้ อาเจียน

- มีอารมณ์แปรปรวน

- มีอาการง่วงนอน แม้นอนเต็มอิ่มก็ยังรู้สึกง่วง

อาการเหล่านี้ของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน โดยมักขึ้นอยู่กับความไวกับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งเมื่อไหร่ที่เริ่มมีการฝังตัวของตัวอ่อนหรือเริ่มมีรกก็อาจเริ่มมีอาการขึ้นมาได้ หรือในบางรายอาจมีอาการตั้งแต่ช่วงประจำเดือนขาด หรือแสดงอาการช้ากว่านั้นก็เป็นได้  

 


เช็กด่วน! อาการรุนแรงของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่ต้องระวังและควรพบแพทย์

- มีเลือดออกปริมาณมากระหว่างตั้งครรภ์

- มีอาการปวดท้องหนัก

- มีอาการแพ้ท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน จนไม่สามารถทานอาหารได้

หากพบอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

 

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดความเสี่ยง สำหรับการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก

  1. หลีกเลี่ยงการทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยไม่มีการปรึกษาแพทย์ก่อน
  2. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้มีการหกล้มได้ ควรเปลี่ยนหรือเริ่มออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินเร็ว การว่ายน้ำ โยคะสำหรับคุณแม่ ในส่วนของคุณแม่ที่มีการออกกำลังกายอยู่แล้ว หากการออกกำลังกายที่ทำอยู่ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการหกล้ม สามารถออกกำลังกายได้เช่นเดิม
  3. หลีกเลี่ยงหรือลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ชาเขียว น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง
  4. หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หรือหวาน

 


ทั้งนี้ การตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่เฉพาะแค่กับร่างกาย แต่มีการแปรปรวนทางด้านอารมณ์ของคุณแม่ด้วย ดังนั้น หากมีข้อสงสัยหรือพบอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ควรปรึกษาแพทย์ “เพราะไม่ว่าเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่อาจหมายถึงสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์”

Q&A ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจสงสัย

Q : เมื่อมีการตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสสุดท้าย สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?

A : สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ หากไม่มีข้อห้ามต่างๆ เช่น เคยมีประวัติมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีรกเกาะต่ำ เคยแท้งบุตร หรือเคยคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์

 

Q : ควรกินยาบำรุงการตั้งครรภ์ตั้งแต่กี่สัปดาห์หลังรู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์?

A : ควรทานตั้งแต่ตั้งรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ โดยตัวยาที่สำคัญสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก คือ โฟลิค แอซิด (Folic Acid) ซึ่งแนะนำให้ทานเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ หรือหากมีการวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ให้เริ่มทานตั้งแต่ 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์เลยก็ได้ เนื่องจากกรดโฟลิคสามารถช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของหลอดประสาท (Neural tube defect) ของลูกน้อยได้ หรือคุณแม่ที่มีประวัติบุตรก่อนหน้ามีความผิดปกติของหลอดประสาท ก็ควรกินโฟลิค แอซิด ร่วมด้วยตั้งแต่วางแผนที่จะตั้งครรภ์ใหม่

บทความโดย
แพทย์หญิงศิริพร ประยูรหงษ์
แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวชทั่วไป




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โทร.02 3632 000 ต่อ 2201-2202
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn