-
ทำความรู้จักภาวะกระดูกพรุน...โรคที่ใครหลายคนมองข้าม
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
21-มิ.ย.-2567

ทำความรู้จักภาวะกระดูกพรุน...โรคที่ใครหลายคนมองข้าม

               ภาวะกระดูกพรุน ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุหรือผู้หญิงเท่านั้น เพราะภาวะกรุนดูกพรุนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นภาวะที่หากไม่เข้ารับการตรวจก็จะไม่รู้ว่าตนเองมีภาวะนี้ แต่จะรู้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้กระดูกหักไปแล้ว ดังนั้นหากเราทำความเข้าใจภาวะนี้อย่างถูกต้อง ก็สามารถป้องกันตนเองจากภาวะเงียบอย่าง “ภาวะกระดูกพรุน”

 


ทำความเข้าใจกับ “ภาวะกระดูกพรุน”

ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดน้อยลงจนทำให้กระดูกมีความเปราะบางส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย โดยปกติกระดูกจะประกอบไปด้วยเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) ที่ทำหน้าที่สร้างเซลล์กระดูกขึ้นมาใหม่ตามกระบวกการเติบโตของร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากแคลเซียมและโปรตีน และเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) ที่ทำหน้าที่สร้างสลายเนื้อกระดูกเก่า หากเกิดการสลายตัวของกระดูกเร็วกว่าการสร้างกระดูกก็จะทำให้เกิด “ภาวะกระดูกพรุน”

 

ปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดกระดูกพรุน

หลายคนอาจคิดว่าภาวะกระดูกพรุนมักมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ดังนี้...

  • อายุ : อายุที่มากขึ้นมักมาพร้อมกับการเสื่อมถอยของร่างกาย โดยมวลกระดูกของคนเราหนาแน่นที่สุดเมื่ออายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นการเจริญเติบโตของร่างกายจะเริ่มช้าลงตามลำดับ
  • เพศ : ภาวะกระดูกพรุนมักเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเพศ (ฮอร์โมนเอสโตรเจน Estrogen) ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว
  • กรรมพันธุ์ : หากครอบครัวมีประวัติเป็นภาวะกระดูกพรุน ลูกก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนด้วย
  • ยา : การได้รับยาบางชนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้มวลกระดูกบางลงได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาป้องกันชักบางชนิด หากต้องการบริโภคยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง
  • การบริโภค : การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อร่างกาย การรับประทานอาหารที่ทำให้แคลเซียมสมดุล หรือการรับประทานอาหารประเภทน้ำอัดลม กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ และรวมถึงการสูบบุหรี่
  • การออกกำลังกายไม่เพียงพอ : ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนมากกว่าคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 


สัญญาณเตือนเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน

ภาวะกระดูกพรุน เป็นภาวะที่ไม่มีอาการเตือนใดๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรู้ก็ต่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกหักเสียแล้ว แต่ก็สามารถสังเกตตัวเองได้หากพบอาการบ่งชี้เหล่านี้ ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะกระดูกพรุน

  • มีอาการปวดหลังเรื้อรัง
  • หลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง
  • ความสูงลดลง
  • กระดูกข้อมือ แขน สะโพก และกระดูกสันหลังแตกหักได้ง่าย แม้ถูกกระแทกแบบไม่รุนแรง

 

ภาวะกระดูกพรุน...หากปล่อยไว้เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนตามมา

ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาเมื่อเป็นภาวะกระดูกพรุน คือ ความเจ็บปวดจากภาวะกระดูกทรุดตัว หรืออาการปวดหลัง ทำให้มีข้อจำกัดมากขึ้นในการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงมีโอกาสที่กระดูกจะแตกหักงง่าย แม้จะได้รับการกระแทกหรือแรงกดที่ไม่แรง นั่นจึงส่งผลให้เกิดผลกระทบทางจิตใจอย่างภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย

             หากเกิดการแตกหักบริเวณกระดูกสะโพกอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินหรือเคลื่อนไหวได้ ทำให้ต้องอยู่กับที่ตลอดเวลา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอย่างแผลกดทับหรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

 


ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก....ป้องกันอันตรายจากภาวะกระดูกพรุน

              การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนสามารถทำได้โดย การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Mineral Density, BMD) เป็นการตรวจเพื่อหาค่าความหนาแน่นของกระดูกตามส่วนต่างๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน โดยตำแหน่งที่ตรวจมักจะเป็นบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นบริเวณที่มีการแตกหักของกระดูกจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย หรือหากจำเป็นก็สามารถตรวจมวลกระดูกได้ทั่วตัว

             โดยผลการตรวจจะออกมาเป็นค่าความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งในคนปกติจะอยู่ที่มากกว่า -1.0 ส่วนคนที่มีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) จะมีค่าอยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 และผู้ป่วยภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) จะมีค่า BMD น้อยกว่า -2.5

 

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกดีอย่างไร?

  • สามารถตรวจกระดูกส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เกือบทั้งหมด
  • ผลตรวจคมชัด ถูกต้อง และแม่นยำ
  • ไม่เจ็บปวดขณะตรวจ
  • สะดวก และใช้เวลาตรวจน้อย
  • มีปริมาณรังสีที่ต่ำ

 


ภาวะกระดูกพรุน หากรู้ทัน ป้องกันได้

ทุกคนล้วนมีโอกาสเป็นภาวะกระดูกพรุน แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันไม่ได้ ภาวะกระดูกพรุนหากรู้เท่าทันก็สามารถป้องกันได้ โดยการดูแลตนเองและบำรุงกระดูกด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เนื่องจากแคลเซียมมีหน้าที่เสริมสร้างกระดูกและเพิ่มความหนาแน่นให้มวลกระดูกทำให้กระดูกมีความแข็งแรง และวิตามินดีมีหน้าที่ดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหารที่รับประทาน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา หรือกาแฟ และอาหารมีค่าความเป็นกรดสูง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ระมัดระวังการใช้ยา โดยก่อนรับประทานยาทุกชนิดควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

หากไม่อยากให้ตนเองเป็นหรือเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน ก็ต้องหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองเพียงแค่เริ่มต้นจากการกิน หรือหากมีความสงสัยเกี่ยวกับมวลกระดูก การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก ก็สามารถช่วยให้รับรู้ถึงมวลกระดูกและสามารถปรับพฤติกรรมต่างๆ ให้สุขภาพแข็งแรงได้ เพราะ “การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา”

 

บทความโดย
นายแพทย์ กษิดิศ ศรีจงใจ 
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ





สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn