-
หัวเข่าลั่น...เสี่ยงข้อเข่าเสื่อมจริงหรือไม่?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
17-มี.ค.-2566

หัวเข่าลั่น...เสี่ยงข้อเข่าเสื่อมจริงหรือไม่?

‘หัวเข่าลั่น’ อาการที่ใครๆ มักละเลย เพราะคิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย คนอื่นเขาก็เป็นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เสียงดังที่เกิดขึ้นบริเวณหัวเข่านั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนแรกๆ ของอาการข้อเข่าเสื่อมก็เป็นได้ และการปล่อยไว้โดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อรักษาอย่างตรงจุด ก็อาจนำไปสู่การเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ในวันหนึ่ง

 

หัวเข่าลั่น เกิดจากอะไร?

หัวเข่าลั่น เกิดจากแก๊สที่อยู่บริเวณรอบหัวเข่ามีการสะสมกันที่ด้านในของน้ำเลี้ยงข้อเข่าจนเป็นฟองแก๊สในน้ำเลี้ยงข้อเข่า เมื่อมีการขยับหรือมีการงอเข่า ฟองแก๊สนั้นก็จะแตกตัวและทำให้เกิดอาการหัวเข่าลั่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในขณะที่ต้องงอเข่ามากๆ เช่น การนั่งยองๆ การนั่งคุกเข่า หรือการนั่งพับเพียบนานๆ ซึ่งอาการหัวเข่าลั่นก็อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้ แล้วแต่กรณี

 


อาการ “หัวเข่าลั่น” เป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่?

อาการหัวเข่าลั่น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

หัวเข่าลั่นแต่ไม่มีอาการปวดบริเวณเข่า : ในกรณีที่ขยับเข่า งอเข่า หรือเหยียดเข่าแล้วมีอาการหัวเข่าลั่น แต่ไม่มีอาการเจ็บใดๆ ตามมา อาจเป็นเพียงแค่การขยับของกระดูกอ่อนที่บริเวณข้อเข่าให้เข้าที่ จึงไม่ใช่อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ทั้งนี้ หากปล่อยไว้นานเข้าก็อาจส่งผลทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้เช่นกัน

หัวเข่าลั่นแล้วรู้สึกปวดบริเวณเข่า : ในกรณีที่มีการงอหรือเคลื่อนไหวบริเวณเข่าแล้วเกิดอาการหัวเข่าลั่นและมีอาการปวดตามมา หรือรู้สึกปวดเมื่อได้รับแรงกดบริเวณเข่า นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคข้อเข่าเสื่อม และหากรู้สึกเหมือนมีอะไรฝืดๆ ติดขัดทุกครั้งที่มีการขยับข้อเข่า อาจแสดงถึงการมีภาวะข้อเข่าเสื่อมที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว

 

หัวเข่าลั่นรักษาอย่างไร?

หากผู้ป่วยมีอาการเข่าลั่นพร้อมกับอาการปวด แพทย์จะทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์บริเวณหัวเข่า หากผลการเอกซเรย์พบว่าเป็นอาการของข้อเข่าเสื่อม ก็จะรักษาตามระยะของอาการที่พบ โดยมีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานยา การฉีดยา การทำกายภาพบำบัด ไปจนถึงการผ่าตัดหากพบว่ามีอาการข้อเข้าเสื่อมรุนแรงมาก

 


ดูแลตัวเองให้ไว...ห่างไกลข้อเข่าเสื่อม

คนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับการรักษา มักไม่ได้มาแค่อาการหัวเข่าลั่น แต่จะมาเมื่อรู้สึกปวดข้อเข่าเรื้อรังแล้ว ทำให้การรักษานั้นยากขึ้น แต่ทั้งนี้เราสามารถป้องกันอาการหัวเข่าลั่นทั้งแบบมีอาการปวดและไม่มีอาการปวดได้ โดยการปรับพฤติกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพราะจะทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมากเกินไป จนเกิดอาการปวดสะสมได้
  • หลีกเลี่ยงการยืนหรือทำกิจวัตรที่ต้องงอเข่าเป็นเวลานานๆ เช่น นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ หรือเดินขึ้นบันไดบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ส่งผลต่อการรับน้ำหนักของข้อเข่า เช่น ออกกำลังกายแบบ Squat
  • หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีผลต่อการกระแทกข้อเข่า เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล และเทนนิส เป็นต้น
  • ควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนักในคนที่มีน้ำหนักตัวเกินค่า BMI เพื่อไม่ให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมากเกินไป
  • เลือกใช้เก้าอี้ที่มีที่รองแขน เวลาลุกให้ใช้แขนพยุงเพื่อไม่ให้หัวเข่ารับน้ำหนักมากเกินไป
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง และคอลลาเจนสูง เพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรง

 

อาการหัวเข่าลั่น เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงหากไม่มีอาการปวดร่วมด้วย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการปวดร่วมด้วยก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และมักเป็นสัญญาณของความผิดปกติบริเวณข้อเข่า จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรหาโอกาสไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัยและรับการรักษาอย่างตรงจุด เพราะข้อเข่านั้นมีความสำคัญกับการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

หากคุณกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองหรือคนที่คุณรัก? วางแผนล่วงหน้าด้วยแผนประกันสุขภาพ คุณจะได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุม ทั้งค่ารักษาพยาบาล (กรณีป่วยแอดมิทเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล) ค่าห้อง ค่าบริการทางการแพทย์และค่ายา การมีประกันสุขภาพสามารถช่วยให้การจัดการกับผลข้างเคียงราบรื่นและมีประสิทธิภาพ แล้วคุณจะได้ใช้ชีวิตอย่างมั่นใจและสบายใจทุกวัน

หากสนใจศึกษาข้อมูลการวางแผนทำประกันสุขภาพ แผน Exclusive Care @ BDMS สามารถโทรปรึกษาฟรีได้ทันที 02-822-1155 หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3XzekUp





บทความโดย
นายแพทย์ กษิดิศ ศรีจงใจ 
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn