หน้าฝน กับโรคไข้เลือดออกที่มากับยุงลาย
ในช่วงฤดูฝน หากบ้านไหนที่มีเด็กเล็ก ๆ อยู่ในบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรต้องระมัดระวังโรคไข้เลือดออกเป็นพิเศษ เนื่องจากในสภาพอากาศฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้น้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย โดยอาการของไข้เลือดออก จะมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ทำความรู้จักกับโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1 , DENV-2 , DENV-3 และ DENV-4 แต่ละสายพันธุ์มีระดับความรุนแรงของโรคต่างกันไป ถ้าหากเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว จะไม่เป็นสายพันธุ์นั้นซ้ำอีก เนื่องจากจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น ๆ ตลอดชีวิต (life-long immunity) และจะมีภูมิต่อเชื้อสายพันธุ์อื่น 6-12 เดือน ดังนั้น หากเคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ก็ยังสามารถเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำได้อีก จากการติดเชื้อในสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งการติดเชื้อในครั้งหลัง (Secondary infection) มักจะทำให้มีอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก (Primary infection)
การติดต่อของเชื้อไวรัสเดงกี่ จะมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเดงกี่เข้าไป เชื้อไวรัสเดงกี่ในยุงจะเพิ่มจำนวน และกระจายเชื้อเข้าไปสู่ต่อมน้ำลายของยุง เตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อให้กับผู้ที่ถูกกัดครั้งต่อไปได้ตลอดอายุของยุง ซึ่งจะอยู่ได้นาน 1 – 2 เดือน
ระยะอาการของไข้เลือดออก
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเดงกี่ มักจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อแล้วประมาณ 5 – 8 วัน โดยอาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะไข้สูง จะมีไข้สูงเฉียบพลันมากกว่า 38 องศาเซลเซียส อยู่ 2 – 7 วัน ถึงแม้ว่าจะกินยาลดไข้ หรือเช็ดตัวแล้วไข้ก็ยังไม่ลด ตาและใบหน้า มักจะแดงกว่าปกติ มีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หรือปวดกระดูก คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกขึ้นตามลำตัว แขน ขา ผู้ป่วยจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก
2. ระยะวิกฤติ ระยะนี้จะเกิดภายใน 1-2 วันหลังจากไข้เริ่มลง โดยไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น เกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างมาก มีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียนหลายครั้ง อาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อย ผู้ป่วยอาจเกิดอาการช็อกได้ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
3. ระยะฟื้นตัว อาการทั่วไปจะดีขึ้น เกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น เริ่มอยากอาหาร ปัสสาวะออกมากขึ้น มีผื่นแดงคันตามแขนขา
อาการเสี่ยงที่ลูกน้อยจะเป็นไข้เลือดออกรุนแรง
● ไข้ลดลงแต่อาการยังแย่ลง เช่น ยังเบื่ออาหาร ซึม ไม่ค่อยเล่น หรืออ่อนเพลียมาก
● ปวดท้องมาก หรืออาเจียนมาก
● มีเลือดออกตามเยื่อบุร่างกาย เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ประจำเดือนมามากผิดปกติ
● กระหายน้ำตลอดเวลา
● ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
● กระสับกระส่าย ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย
● ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4 – 6 ชั่วโมง
การตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก
● ซักประวัติและตรวจร่างกาย
● ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นของเลือดและจำนวนเกล็ดเลือด และการตรวจ NS1Ag ต่อเชื้อเดงกี่ หรือภูมิต่อการติดเชื้อเดงกี่ IgM, IgG
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
● ให้การรักษาตามอาการ โดยปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ
● หมั่นเช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามให้ยาลดไข้สูงหรือยากลุ่ม NSAIDs หรือแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้มีภาวะเลือดออกรุนแรงได้
● ให้สารน้ำชดเชยให้เพียงพอ ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
● ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีดำหรือแดงคล้ายเลือด
● หากมีอาการรุนแรงขึ้น ควรพามาโรงพยาบาลทันที
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
● ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน
● กางมุ้ง ทายากันยุง
● การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก เป็นการเสริมสร้างเกราะป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ลดความรุนแรงของโรค โดยวัคซีนตัวใหม่มีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 4 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 60 ปี โดยจะฉีด 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน สามารถฉีดได้ทั้งในคนที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน