โรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียในเด็ก ต้อนรับช่วงเปิดเทอม
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
23-พ.ค.-2566

ลูกรักเปิดเทอม พ่อแม่ควรระวัง โรคติดเชื้อที่เด็ก ๆ มักติดมาจากโรงเรียน ช่วงเปิดเทอม เด็ก ๆ สามารถเผชิญกับอาการเจ็บป่วยได้อยู่เสมอ ซึ่งเรามักพบโรคเหล่าได้บ่อย ๆ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการและป้องกันโรคที่มักพบบ่อย ๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตในช่วงที่เด็กเปิดเทอม ซึ่งมีหลายโรคโดยโรคที่พบบ่อย ดังนี้


1. โรคมือ เท้า ปาก
เป็นโรคที่ติดเชื้อจากไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส เช่น คอกซากีไวรัส เอ 16 (
coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่าเชื้อ อีวี 71 เป็นเชื้อที่รุนแรงที่สุดซึ่งสามารถติดต่อผ่านการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรงหรือทางอ้อม เช่น ผ่านของเล่น การสัมผัสผ่านมือ น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งจะพบมากในเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี
      อาการ ส่วนใหญ่อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลียประมาณ 1 -2 วัน มีอาการเจ็บปาก ไม่ยอมรับประทานอาหารน้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน มีผื่นเป็นจุดแดงหรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีบริเวณก้น แขน ขา

2. โรคติดเชื้อไอพีดี  เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส” (Streptococcal Pneumoniae) ชนิดรุนแรงและรุกราน ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไปจนถึงทำให้พิการและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจาย ได้ผ่านการไอหรือจาม        
       อาการ มีไข้สูง งอแง ปวดหู ความรุนแรงจะขึ้นกับอวัยวะที่ติดเชื้อหรือลุกลาม เช่น หากการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง ร้องกวน จนอาจเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้ หากติดเชื้อทางระบบประสาท คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ซึม อาเจียน คอแข็ง ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิต หรือติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดอักเสบ เด็กมีไข้ ไอ หอบ ถ้ารุนแรงมากอาจเกิดภาวการณ์หายใจล้มเหลวได้ เป็นต้น

3.  โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เกิดจาการติดเชื้อไวรัส “อินฟลูเอนซ่าไวรัส” (Influenza virus) ที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือละอองเสมหะที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ป่วย เด็กเล็กและเด็กวัยเรียน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ง่าย เช่น โรคปอดอักเสบ โรคสมองอักเสบ
        อาการ เมื่อเด็กสัมผัส หรือหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไป ซึ่งจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 – 4 วัน จากนั้นจะทำให้มีไข้สูง ไอ มีน้ำมูก คัดจมูก จาม มีอาการปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลียคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีอาการมากกว่า ถ้าหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ไข้สูงลอย ซึม หอบหายใจไม่สะดวก รับประทานอาหารไม่ได้ หรือมีอาการชัก ควรรีบพบแพทย์ทันที


4.  โรคไข้เลือดออก คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค พบการระบาดสูงในช่วงฤดูฝน เพราะมีบริเวณน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเดงกี่เข้าไป เชื้อไวรัสเดงกี่ในยุงจะเพิ่มจำนวน และกระจายเชื้อเข้าไปสู่ต่อมน้ำลายของยุงเตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อให้กับผู้ที่ถูกกัดครั้งต่อไปได้ตลอดอายุของยุง ซึ่งจะอยู่ได้นาน 1 -2 เดือน
        อาการ ส่วนใหญ่เด็กที่เป็นโรคไข้เลือดออกมักจะแสดงออกหลังจากที่ได้รับเชื้อแล้วประมาณ 5 – 8 วัน โดยจะมีไข้สูงลอย 38 – 40 องศาเซลเชียส นานประมาณ 2 – 7 วัน ตาและใบหน้า มักจะแดงกว่าปกติ เบื่ออาหารและมีอาการซึมในบางรายอาจมีผื่นขึ้น หรือพบว่ามีจุดเลือดออกขึ้นตามลำตัว แขน ขา ถ้าหากมีอาการอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือดแสดงถึงอันตราย และเด็กอาจจะมีภาวะช็อกซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

5.  โรคอุจจาระร่วง เป็นภาวะที่มีการถ่ายเหลวผิดปกติ ตั้งแต่ 3 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน รวมถึงการจับของเล่นหรือสิ่งของสกปรกเข้าปาก
        อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีไข้ร่วมได้

6.  โรคตาแดง เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำตา และขี้ตาของผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย รวมทั้งการไอจามใส่กัน
        อาการ เคืองตา ตาบวม ตาแดง คันตา มีน้ำตาไหล และมีขี้ตามากผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง สังเกตอาการของลูก หลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ หรือมีอาการใดที่บ่งชี้ได้ว่าอาจเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ควรรีบพาแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และรักษาโดยเร็วที่สุด


บทความสุขภาพ
➮ โรคท้องร่วงในเด็ก DIARRHEA
➮ อาการท้องผูกในเด็ก
➮ โรคมือเท้าปาก
➮ พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ตรวจสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5121
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset