โลหิตจาง
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
18-ส.ค.-2566

ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ภาวะโลหิตจางคืออะไร

ภาวะโลหิตจาง คือ ภาวะที่ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติในแต่ละช่วงอายุ โดยสามารถตรวจได้จากค่าฮีโมโกลบิน (hemoglobin) และฮีมาโตคริต (hematocrit) โดยในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี ค่าปกติของฮีโมโกลบิน คือ มากกว่า 11 กรัม / เดซิลิตร และ ค่าฮีมาโตคริตมากกว่า 33%

              เด็กที่มีภาวะโลหิตจางเพียงเล็กน้อย อาจจะไม่มีอาการอะไรเลยหรืออาจดูซีดเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากภาวะโลหิตจางมากขึ้น จะทำให้เด็กมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้ลดลง นอกจากนี้มีผลการศึกษาพบว่าการขาดธาตุเหล็กมีผลต่อระดับเชาว์ปัญญา ซึ่งประเมินจาก IQ TEST


สาเหตุของภาวะโลหิตจาง

ภาวะโลหิตจางในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือการขาดธาตุเหล็ก และโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้โลหิตจาง เช่น โรคเรื้อรังต่างๆ  โรคมะเร็ง และโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

การตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางในเด็ก

ตามแนวทางของสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แนะนำให้ตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางในเด็กทุกคน ที่อายุ 9 - 12 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่พบภาวะโลหิตจางได้บ่อย หากค่าฮีโมโกลบินน้อยกว่า 11 กรัม/เดซิลิตร หรือ ฮีมาโตคริต น้อยกว่า 33% แปลว่ามีภาวะโลหิตจาง



การรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาธาตุเหล็กทุกวัน และติดตามการรักษาหลังกินยา จนค่าฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริตขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ จากนั้นจะให้กินยาต่ออีก 6-8 สัปดาห์ จึงค่อยหยุดยาได้ ร่วมกับการทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากขึ้น ในกรณีที่มีอาการเลือดออกหรือมีประวัติที่สงสัยติดเชื้อพยาธิ ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุและรักษาสาเหตุร่วมด้วย

การป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

สาเหตุที่ทำให้เด็กมีการขาดธาตุเหล็กที่พบได้บ่อย คือ การได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ จึงสามารถป้องกันได้โดยการให้ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ ไข่แดง ผักใบเขียว ตั้งแต่เริ่มอาหารมื้อแรก และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ จำนวน 3 มื้อ ตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป และกินนมวัวครบส่วน (whole milk) หลังอายุ 1 ขวบ โดยกินนมไม่เกิน 2-3 แก้ว/วัน (แก้วละ 250 ซีซี หรือ 8 ออนซ์) และพยายามให้เลิกขวดนมหลังอายุ 1 ขวบ เนื่องจากการดื่มนมจากขวด (bottle-feeding) เป็นเวลานาน 24-48 เดือน จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการขาดธาตุเหล็กมากขึ้น

              นอกจากนี้ในเด็กทารกที่มีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ ทารกที่เกิดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อย  และทารกที่กินแต่นมแม่เพียงอย่างเดียว (exclusive breastfed infant) ควรได้รับยาธาตุเหล็กเสริมเพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก จนกระทั่งเด็กได้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ



บทความสุขภาพ
➮ พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย
➮ โรคภูมิแพ้ในเด็ก ทำไมต้องระวัง
➮ โรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียในเด็ก ต้อนรับช่วงเปิดเทอม
➮  โรคติดเชื้อในเด็ก ที่พ่อแม่ควรระวัง 






สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ตรวจสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5121
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset