ปัจจุบันโรคกระดูกพรุน กลายเป็นปัญหาสุขภาพใหญ่อีกหนึ่งโรคที่นับวันจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็น ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเองเลยว่าตัวเองกำลังมี ภาวะกระดูกพรุนอยู่ เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงออกมาเลย จะรู้ตัวอีกทีคือตอนที่ตนเองมีการหกล้มแล้วกระดูกหัก ถึงจะรู้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
ทำความรู้จักกับโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่มีความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลงจนทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย ซึ่งในผู้ป่วยบางรายโรคกระดูกพรุนส่งผลให้ส่วนสูงลดลง เนื่องจากมวลกระดูกสันหลังผุกร่อนและทรุดตัวลง ซึ่งผลกระทบจากโรคกระดูกพรุนคือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกสามารถรับน้ำหนัก แรงกระแทก หรือแรงกดได้ลดน้อยลง
บริเวณใดบ้างที่เสี่ยงและมักเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุน
• กระดูกสันหลัง
• สะโพก
• ข้อมือ
โรคกระดูกพรุน แสดงอาการออกมาอย่างไรได้บ้าง ?
เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มักไม่มีอาการเตือนใด ๆ ก่อนล่วงหน้า จึงทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทราบได้เลยว่าตนเองกำลังเป็นโรคกระดูกพรุน จนกระทั่งผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุหกล้ม หรือได้รับแรงกระแทกทั้ง ๆ ที่ล้มแค่นี้ไม่น่าจะถึงขั้นกระดูกหัก แต่ก็นำไปสู่ภาวะกระดูกหักได้ แต่อาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่ควรใส่ใจและหมั่นสังเกต เพื่อให้สามารถรักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุน ได้แก่
• ปวดหลังเรื้อรัง
• หลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง
• ความสูงลดลง
สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนเกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันระหว่างเซลล์ที่สร้างเนื้อกระดูก Osteoblast และ เซลล์ทำลายกระดูก Osteoclast จึงทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูกเกิดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูก หรืออาจจะมีความผิดปกติของเซลล์กระดูก
เช็กลิสต์! ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคกระดูกพรุน
• เพศ ส่วนใหญ่มักจะพบว่า ผู้หญิง เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าและเร็วกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือมีการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง การสลายของกระดูกจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงทำให้เริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ถึง 40 – 50 %
• อายุ โดยปกติแล้วมวลกระดูกของคนเราจะหนาแน่นที่สุดเมื่ออายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ ดังนั้น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น มวลกระดูกจะเปราะบางและแตกหักง่าย หากถูกกระทบกระเทือนแม้ไม่รุนแรงก็ตาม
• กรรมพันธุ์ ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วกระดูกหักด้วย
• ยา ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานานจะทำให้มวลกระดูกบางลง เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผู้ป่วยโรค SLE ยาป้องกันการชัก เป็นต้น
• เคยกระดูกหัก กลุ่มคนที่เคยกระดูกหักมีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.5 เท่า
• แอลกอฮอล์ การดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณมากกว่า 3 แก้ว/วัน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนเร็วขึ้น
• บุหรี่ เนื่องจากสารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน ความเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักสูงขึ้น 1.5 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่
• การบริโภคอาหาร ที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต หรือกินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล เช่น การได้รับเกลือมากกว่า 1 ช้อนชา/วัน ชา กาแฟมากกว่า 3 แก้ว/วัน น้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋อง/สัปดาห์ จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดุกพรุนสูง เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มข้างต้นจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ส่วนอาหารเค็มจัดและคาเฟอีนยังทำให้ร่างกายขับแคลเซียมมากขึ้นอีกด้วย
• ขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ นอกจากทำให้ร่างกายเสียสมดุลแล้วยังอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน
การตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
ตรวจวัดมวลกระดูก Bone Mineral Density (BMD)
การตรวจวัดมวลกระดูก Bone Mineral Density (BMD) ด้วยเครื่องมือรังสีชนิดพิเศษ เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวด สามารถใช้ตรวจกระดูกได้ทุกส่วน แต่ที่นิยมและใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือ ที่กระดูกสันหลังช่วงเอวและกระดูกสะโพก
ในส่วนภาพ X-rays ในภาวะกระดูกพรุนจะเห็นเนื้อกระดูกจาง ๆ โพรงกระดูกกว้างออกความหนาของผิวกระดูกลดลงและมีเส้นลายกระดูกหยาบ ๆ โดยจะเห็นขอบของกระดูกเป็นเส้นขาวชัด ซึ่งในบางรายอาจเห็นกระดูกหักหรือกระดูกสันหลังทรุดตัวลง
เราควรตรวจกระดูกตอนไหนดี ?
• ในกลุ่มผุ้ที่มีอาการปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยง ควรเริ่มตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกเมื่ออายุ 60 ปี
• ในกลุ่มผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่เคยมีประวัติกระดูกหักในครอบครัวจากภาวะกระดูกพรุน หรือได้รับยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจความหนาแน่นกระดูกให้เร็วขึ้น
การรักษาโรคกระดูกพรุน
เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเกิดจากภาวะกระดูกเสื่อมที่เกิดมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งหลักการรักษาจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก โดยมีวิธีการรักษา ดังนี้
• การรักษาด้วยยา ซึ่งมีทั้งการรับประทานยาและการฉีดยา
• การรักษาโดยการเพิ่มฮอร์โมน เป็นการรักษาโดยการเพิ่มฮอร์โมนบางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระดูก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคกระดุกพรุน ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยการวัดค่าความหนาแน่นของกระดูกร่วมกับการตรวจเลือดประเมินระดับแคลเซียม วิตามินดี ค่าการทำงานของตับและไตอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารหรือแคลเซียมและวิตามินดีเสริม ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก จากโรคกระดูกพรุนในอนาคต
🔹บทความสุขภาพ🔹
➮ สะดุดเวลาขยับนิ้ว ระวังโรคนิ้วล็อค
➮ หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตในยุคสังคมก้มหน้า
➮ นวัตกรรมใหม่ รักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โดยการจี้หมอนรองกระดูกด้วยคลื่นวิทยุ
➮ เทคนิคการผ่าตัด โรคกระดูกและข้อ
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset