มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว อาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว เป็นสัญญาณเตือนของ โรคนิ้วล็อค ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่โดยส่วนมากจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ปัจจุบันโรคนิ้วล็อคพบได้มากขึ้น เนื่องจากใช้นิ้วมือในการพิมพ์คีย์บอร์ด สมาร์ทโฟน หรือใช้ข้อมือขยับเมาส์คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ
สาเหตุของโรคนิ้วล็อค
เกิดจากการใช้แรงงอนิ้วมาก ๆ หรือกำนิ้วแน่นมาก ๆ ทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้ว ตรงบริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้วส่งผลให้นิ้วขยับได้ไม่ดี งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อคไว้ กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อค
1. แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ คนทำอาหาร ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ ช่างโทรศัพท์ ช่างทำผม ทันตแพทย์ หรือคนสวน ที่มีความจำเป็นต้องทำงานในลักษณะเกร็งนิ้วมือบ่อย ๆ 2. ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ หรือโรครูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคมากขึ้น อาการของโรคนิ้วล็อค
อาการโดยทั่วไปของโรคนิ้วล็อคจะเริ่มต้นจากอาการเล็กน้อย และค่อย ๆ เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆระยะที่ 1 จะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว กดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้าจะมีอาการปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการสะดุดระยะที่ 2 มีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้วระยะที่ 3 เมื่องอนิ้วลงจะมีอาการติดล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งมาช่วยแกะ หากมีอาการมากขึ้น จะไม่สามารถงอนิ้วลงเองได้ระยะที่ 4 มีอาการอักเสบและบวม ไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ และอาการปวดรุนแรงมากขึ้น VIDEO
แนวทางการรักษาโรคนิ้วล็อค ทางการแพทย์
การรักษาอาการโรคนิ้วล็อคมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อคด้วยวิธีการทางการแพทย์ สามารถใช้ได้กับคนไข้ที่มีอาการนิ้วล็อคตั้งแต่ระยะที่ 1- 41. ให้ยารับประทานในกลุ่ม NSAID (Non – Steroidal Antiinflammatory Drugs) หรือที่เรียกว่า ยาแก้อักเสบ เพื่อลดอาการปวด บวม อักเสบ และพักการใช้งานของมือ ไม่ใช้งานรุนแรง2. การทำกายภาพบำบัด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการกายภาพบำบัดเบา ๆ เพื่อคลายกล้ามเนื้อและเอ็น ช่วยให้นิ้วเคลื่อนที่ได้ปกติ ทั้งนี้การทำกายภาพรักษานิ้วล็อคควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดเท่านั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย3. การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดอาการบวมของเส้นเอ็นแต่กรณีฉีดยาอาจทำให้อาการดีขึ้นได้เพียงระยะสั้น ๆ และสามารถกลับมาทำซ้ำได้ในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งข้อจำกัดในการรักษานี้คือ ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อนิ้วที่เป็นโรค4. การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อคมานาน ลองรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผล การผ่าตัดจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายของการรักษา ซึ่งแพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณแผลผ่าตัด เปิดแผลบริเวณโคนนิ้ว และผ่าตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาตัวให้เปิดออก ขยายช่องปลอกหุ้มเอ็นเพื่อช่วยทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้สะดวก ไม่ติดขัด ซึ่งหลังการผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที ระวังแผลหลังการผ่าตัดไม่ให้โดนน้ำ วิธีลดความเสี่ยงการเป็นนิ้วล็อค
1. ไม่หิ้วของหนักเกินไป และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจจะใช้วิธีการอุ้มประคองหรือเข็นลากแทนการหิ้วของ เพื่อลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ 2. ควรใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้นและจัดทำขนาดที่จับเหมาะแก่การใช้งาน ขณะใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ 3. งานที่ต้องใช้เวลาในการทำงานนานอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มือเมื่อยล้า หรือระบม ควรพักมือเป็นระยะ ๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง 4. ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากขึ้น 5. หากมีข้อฝีดตอนเช้า หรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือและกำแบในน้ำเบา ๆ (ไม่ควรกำมือแน่นเกินไป) จะทำให้ข้อฝีดลดลง 6. หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ การใช้แรงบิดผ้ามาก ๆ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือ เพื่อให้กำแน่น ๆ 7. ไม่ควรดีด ดัด และหักนิ้ว เพราะสามารถทำให้เส้นเอ็นอักเสบขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม อาการของโรคนิ้วล็อคมีหลายระยะ แต่หากมีอาการนิ้วล็อครุนแรง ปวด บวม และอักเสบ จนไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ พร้อมทั้งเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และทำให้นิ้วกลับมาใช้งานได้อย่างปกติ
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมแผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114 Line official account : Paolo Hospital Kaset Line ID : @paolokaset