รักษา หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตในยุคสังคมก้มหน้า
อาการของโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม
อาการที่คอ ปวดคอ บ่า หรือไหล่เรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปจนถึงบริเวณท้ายทอยได้ โดยที่อาการปวดนี้อาจบรรเทาได้ด้วยการนวดหรือการฝังเข็ม แต่ก็มีการกลับมาเป็นซ้ำอยู่เรื่อย ๆ ไม่หายขาด
อาการที่แขน อาการแสดงที่แขนมีได้ 3 แบบ คือ อาการปวด ชา หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ อาการแสดงที่แขนนี้เกิดจากการที่เส้นประสาทสันหลังส่วนคอถูกรบกวน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหรือชาลงมาตามบริเวณแขน ข้อศอก หรือนิ้วมือได้ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก็มีลักษณะคล้ายอาการปวดและชา คือจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับนั้น ซึ่งบางรายมาพบแพทย์เพราะไม่สามารถใช้งานมือได้เหมือนเดิม เช่น การเล่นดนตรี การเซ็นชื่อ เขียนหนังสือ หรือการติดกระดุมเสื้อ เป็นต้น
อาการที่ขา หากมีการกดทับของไขสันหลังมักไม่มีอาการปวด แต่อาการจะแสดงออกในลักษณะของการเดินที่ผิดปกติ เช่น ขาตึงผิดปกติ รู้สึกเหมือนจะล้มง่าย เดินก้าวสั้น เดินตามคนอื่นไม่ทัน อาการเหล่านี้หากทิ้งไว้นานอาการอาจแย่ลงจนมีกล้ามเนื้อลีบจนกระทั่งไม่สามารถเดินได้ในที่สุด
สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม
- เสื่อมตามอายุ
- การก้ม แหงนหรือสะบัดคอบ่อย ๆ เป็นนิสัย
- นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน ๆ
- อุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่กระทบต่อกระดูกสันหลัง
การรักษาโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม
ในส่วนการรักษาสามารถรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นของอาการที่ผู้ป่วยเป็นโดยทั่วไปจะเริ่มจากการรักษา ดังนี้
1. การรักษาแบบประคับประคอง เช่น นอนพัก การทำกายภาพบำบัด รับประทานยาแก้ปวด เพื่อลดอาการปวดให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามสมรรถนะของตนเองอย่างมีคุณภาพที่สุด
2. การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง เป็นวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัด เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหลังหรือคอ โดยมีการกำหนดระดับของข้อกระดูกสันหลังจากอาการปวดด้วยการตรวจร่างกาย X-Ray และ MRI เพื่อค้นหาจุดที่ทำให้เกิดอาการปวด ซึ่งส่วนใหญ่การเลือกเทคนิคการฉีดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอาการปวดและโครงสร้างอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้นเหตุทั่วไปของอาการปวด คือ ปวดรากประสาท ปวดข้อต่อ ปวดกล้ามเนื้อ
การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ ได้แก่
2.1 การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทไขสันหลัง จะเป็นการรักษาอาการปวดที่มีสาเหตุจากประสาทไขสันหลังอักเสบ อัตราประสบผลสำเร็จจะแตกต่างกัน
- อาการที่เกิดขึ้นน้อยกว่า 3 เดือน ประสบผลสำเร็จ 90 %
- อาการที่เกิดขึ้นประมาณ 6 เดือน ประสบผลสำเร็จ 70 %
- อาการที่เกิดขึ้น 1 ปี ประสบผลสำเร็จ 50 %
2.2 การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อต่อกระดูกสันหลัง หากการวินิจฉัยและการรักษาอาการปวดหลังหรือคอชั่วคราวที่มีสาเหตุจากข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ ซึ่งเป็นบริเวณที่กระดูกสันหลังสองชิ้นมาบรรจบกันในลำกระดูกสันหลัง หลังจากที่มีการฉีดยาไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาการปวดยังกลับมาอีก สามารถฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อต่อกระดูกสันหลังซ้ำได้อีกถึง 3 ครั้งต่อปี
2.3 การฉีดยาชาระงับความรู้สึกของเส้นประสาทที่เลี้ยงข้อ เป็นการฉีดยาชาเข้าไปยังเส้นประสาทที่เลี้ยงข้อต่อ ซึ่งเป็นเส้นประสาทขนาดเล็กที่ควบคุมความรู้สึกในข้อต่อกระดูกสันหลัง โดยปกติจะเห็นผลการรักษาประมาณ 10 -20 นาที หลังการฉีดยาเข้าไป หากอาการปวดบรรเทาลงได้อย่างน้อย 70 % แนะนำให้ฉีดครั้งต่อไปด้วยการฉีดยาชาระงับความรู้สึกของเส้นประสาทที่เลี้ยงข้อ หากอาการปวดหายไปในขั้นต้น แต่กลับมีอาการปวดอีก การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูงน่าจะเป็นตัวเลือกการรักษาที่เหมาะสมกว่า
2.4 การรักษาด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง เป็นการรักษาซึ่งใช้ความร้อนสร้างคลื่นวิทยุเพื่อทำลายเส้นประสาทที่เลี้ยงข้อระงับสัญญาณนำความเจ็บปวดที่ส่งไปยังสมองซึ่งมีสาเหตุจากข้อต่อกระดูกสันหลัง โดยปกติแพทย์จะแนะนำวิธีนี้หลังจากการฉีดยาชาระงับความรู้สึกของเส้นประสาทที่เลี้ยงข้อประสบผลสำเร็จ โดยเฉลี่ยอาการปวดจะบรรเทาลงไป 10 เดือนครึ่งและอัตราประสบผลสำเร็จจะอยู่ที่ 85% ระดับของอาการปวดที่บรรเทาลงไปจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และอาจใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์ก่อนอาการปวดจะบรรเทาลงมากที่สุดอย่างชัดเจน การรักษานี้อาจทำซ้ำได้หากอาการปวดบรรเทาลงไปนานกว่า 6 เดือนในแต่ละครั้ง
2.5 การฉีดเข้าที่ข้อกระเบนเหน็บ โดยทั่วไปจะใช้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหลังส่วนล่างของผู้ป่วย ด้วยการฉีดยาชาและคอร์ติโซนที่ข้อกระเบนเหน็บ การฉีดยาจะช่วยคลายอาการปวดของผู้ป่วยได้เพียงชั่วคราว หากมีการยืนยันแล้วว่าข้อกระเบนเหน็บเป็นต้นเหตุด้านโครงสร้างของอาการปวด ควรหาตัวเลือกอื่น ๆ เพื่อรักษาที่อาจประสบผลสำเร็จมากกว่า
3. การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังบริเวณคอ เป็นการผ่าตัดเพื่อคลายการกดทับของเส้นประสาทและไขสันหลังโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอเข้าหากัน โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดชนิดนี้เมื่อมีการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง หรือเมื่อมีอาการปวดเรื้อรังจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม
4.การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมบริเวณคอ คือการนำหมอนรองกระดูกบริเวณส่วนคอ ที่เป็นสาเหตุของอาการปวดออก และนำหมอนรองกระดูกเทียมใส่เข้าไปแทนที่ นอกจากนี้ศัลยแพทย์สามารถตัดกระดูกส่วนที่งอกออกมา และขยายพื้นที่บริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งจะช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทและรากประสาท
5. การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Spine Surgery (MISS) เป็นการผ่าตัดรักษาอาการปวดคอหรือหลัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป้นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โพรงประสาทสันหลังตีบ หรือหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจากความเสื่อมตามอายุ โดยแพทย์จะใช้เทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (MISS) มาช่วยในการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (MISS) อาจจะใช้กล้อง Endoscope หรือกล้อง Microscope และ tubular และอุปกรณ์ Microsurgery มาช่วยในการผ่าตัด ทำให้ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ลดการบาดเจ็บ เสียเลือดน้อย และฟื้นตัวได้เร็ว
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้มีการพัฒนาขึ้นมาก เป็นการเพิ่มคุณภาพการรักษา ทั้งขนาดแผล ความเจ็บ ความปลอดภัย และระยะเวลาในการพักฟื้น ซึ่งการผ่าตัดแผลเล็กเป็นวิธีที่แพร่หลายและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มศัลยแพทย์กระดูกและศัลยแพทย์ระบบประสาททั่วโลก
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset