ถุงน้ำในเต้านม หรือซีสต์ อันตรายแค่ไหน
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
15-ส.ค.-2566

คลายความสงสัย ถุงน้ำในเต้านม หรือซีสต์ อันตรายแค่ไหน

ไขข้อสงสัย คลายความกังวลใจ เมื่อคุณผู้หญิงคลำเจอสิ่งผิดปกติที่เต้านม เนื่องจากกลัวว่าก้อนที่คลำเจอจะเป็นอันตราย และกลัวว่าตัวเองจะเป็นซีสต์ที่เต้านม หรือ เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากน้อยแค่ไหน

ทำความรู้จักกับ ถุงน้ำในเต้านม
ถุงน้ำในเต้านม หรือ ซีสต์ (Cyst) เกิดจากการที่ร่างกายของผู้หญิงเรามีการเตรียมพร้อมที่จะให้นมบุตรทุกเดือนตามรอบเดือน โดยฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ถุงน้ำนมขยายขึ้น มีการสร้างน้ำนมปริมาณไม่มากในถุง และถ้าหากไม่มีการปฏิสนธิไม่มีการตั้งครรภ์ เมื่อมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนก็จะลดลง ทำให้ถุงน้ำพวกนี้จะยุบลงไปด้วย แต่ในบางครั้งก็ยังมีบางถุงที่พองอยู่ จึงทำให้เราเห็นเป็นถุงน้ำจากการทำอัลตราซาวด์

ลักษณะอาการเมื่อเกิดถุงน้ำ
       ถุงน้ำเหมือนในเต้านมจะเหมือนลูกโป่ง โดยอาจจะคลำได้ก้อนที่เต้านม ซึ่งถ้ามีน้ำเพิ่มขึ้น แรงตึงผิวก็จะมากขึ้น จึงส่งผลให้มีอาการปวด ส่วนใหญ่มักจะเป็นในช่วงที่ฮอร์โมนมามาก คือก่อนเป็นประจำเดือน

       เมื่อถุงน้ำมีการขยายขนาดที่ใหญ่ขึ้นที่ขนาดประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร เรามักจะคลำได้ก้อน ส่วนใหญ่มักจำทำการดูดน้ำออกด้วยเข็มขนาดเล็ก ก้อนก็จะยุบหายไป และในบางครั้งอาจเกิดขึ้นมาใหม่ได้ จึงต้องดูดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง


วิธีการตรวจวินิจฉัย
1. ตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ โดยเบื้องต้นแพทย์สามารถวินิจฉัยซีสต์ หรือถุงน้ำในเต้านมได้ทันทีด้วยการคลำก้อนเนื้อที่ขึ้นมา หากซีสต์ที่ผู้ป่วยเป็นขึ้นที่ผิวหนังหรือบริเวณเต้านมที่สามารถคลำเพื่อวินิจฉัยได้ แต่วิธีนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าก้อนที่ตรวจพบนั้นเป็นก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำ จึงควรจะต้องทำการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อยืนยันเพิ่มเติม

2. ตรวจวินิจฉัยโดยการอัลตร้าซาวด์เต้านม (Ultrasound Breast) เป็นการตรวจเต้านมด้วยการส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเข้าไปในเต้านม จากนั้นคลื่นเสียงจะสะท้อนกลับมาที่เครื่องแสดงความไม่เหมือนของเนื้อเยื่อที่พบได้ว่าปกติ หรือไม่ปกติ และนอกจากนี้ยังสามารถบอกได้ว่า สิ่งผิดปกติเป็นถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อ

3. ตรวจวินิจฉัยด้วยแมมโมแกรม (Digital Mammogram) เป็นการตรวจเต้านมด้วยเครื่องมือที่ใช้รังสีชนิดพิเศษเหมือนการเอกซเรย์ ซึ่งการตรวจแมมโมเกรมจะเป็นการฉายภาพเต้านมด้านละ 2 รูป รวมทั้งถ่ายจากข้างบนแล้วก็ด้านข้างรวมเป็น 4 รูป โดยแพทย์จะสามารถเห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนม ไขมัน หินปูน และก้อนเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งเจาะจงตำแหน่งได้อย่างตรงจุด

4. การใช้เข็มเจาะที่เต้านมดูของเหลวไปตรวจ โดยวิธีนี้แพทย์จะทำการเจาะดูดของเหลว ออกจากในก้อนถุงน้ำ ถ้าของเหลวที่ดูดออกมาไม่มีเลือดปนก็ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจอย่างอื่นต่อ





การรักษา
หากผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บ หรือปวด อาจจะไม่จำเป็นต้องรักษา แต่อาจจะทำการติดตามตรวจดูขนาดของถุงน้ำว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นถุงน้ำหรือซีสต์ที่มีอาการปวด และก้อนใหญ่ แพทย์อาจจะแนะนำผู้ป่วยรักษาตามวิธีการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ดังนี้
1. การเจาะดูดของเหลวด้วยเข็ม โดยแพทย์จะเจาะดูดเอาน้ำด้านในออก เมื่อดูดน้ำออกแล้วอาการก็จะดีขึ้น หลังจากเจาะเอาน้ำออกแล้วประมาณ 50 % จะหายไม่กลับมาเป็นอีก แต่อีก 50% ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก ซึ่งถ้าหากยังมีอาการอยู่การเจาะเอาน้ำออกอาจทำได้อีก 1 – 2 ครั้ง
2. การใช้ฮอร์โมน การใช้ยาจำพวกกลุ่มยาคุมกำเนิดเพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย และประจำเดือนอาจจะช่วยลดการเกิดถุงน้ำที่เต้านมได้ การหยุดฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยทองก็ช่วยได้เช่นกัน
3. การผ่าตัด ในผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องผ่าตัด เช่น มีอาการค่อนข้างมาก หรือมีการเจาะดูดออกแล้วพบเลือดปน หรือสงสัยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

        อย่างไรก็ตามถุงน้ำในเต้านม หรือซีสต์ที่เต้านม ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลอาการป่วยได้ด้วยตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคลุกลามไปมากกว่าเดิม แนะนำผู้ป่วยที่เป็นถุงน้ำที่เต้านมหรือซีสต์ที่เต้านมควรสวมสปอร์ตบรา หรือเสื้อชั้นในที่ใช้หลังทำศัลยกรรม เพื่อช่วยประคองเต้านมและช่วยให้ไม่รู้สึกอึดอัด หากรู้สึกเจ็บที่ถุงน้ำหรือซีสต์ สามารถประคบด้วยของอุ่น ของเย็น หรือถุงน้ำแข็งเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์แนะนำ เช่น พาราเซตามอล หรือกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อย่างยาแอสไพรินหรือยานาพรอกเซน





บทความสุขภาพ
➮ กลุ่มโรคมะเร็งสตรี ที่พบบ่อย
➮ การรักษามะเร็งเต้านม
➮ มะเร็งเต้านม ตรวจเจอไว รักษาได้
➮ "มะเร็งเต้านม" ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม ตรวจเจอเร็วรักษาได้ทัน




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset