การรักษามะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งเต้านม เกิดจากการเจริญเติบโตมากผิดปกติ ของเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งทำให้เกิดลักษณะของการเป็นก้อน เกิดเป็นแผลที่บริเวณเต้านม โดยสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่ทราบเหตุผลที่มาอย่างแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยดังนี้ คือ1. ผู้ที่มีประวัติพันธุกรรม ในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่
2. อายุที่เพิ่มมากขึ้น ช่วงอายุประมาณ 40 ปี ขึ้นไป
3.ได้รับการรักษา โดยใช้ยาฮอร์โมน เป็นเวลาต่อเนื่องนานเกิน 10 ปี
4.การรับประทานอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในปริมาณสูง เช่น ถั่วเหลือง
5.น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
การจำแนกระยะของมะเร็งเต้านม
ในการจำแนกว่ามะเร็งเต้านมที่ตรวจพบนั้นอยู่ในระยะใด จะใช้เกณฑ์การจำแนกจากขนาดของก้อนเต้านมที่ตรวจพบ ร่วมกับการตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ซึ่งมีรายละเอียดจำเพาะเจาะจง เพื่อความละเอียดแม่นยำในการวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 :
คลำพบก้อนที่เต้านม โดยก้อนมีขนาดน้อยกว่า 2 เซนติเมตร
ระยะที่ 2 :
คลำพบก้อนที่เต้านม ก้อนมีขนาดประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร
ระยะที่ 3 :
คลำพบก้อนที่เต้านม ก้อนมีขนาดมากกว่า 3 เซนติเมตร
ระยะที่ 4 :
เป็นระยะที่มีการแพร่กระจาย ไปยังอวัยวะอื่นนอกเหนือจากบริเวณข้างเคียงเต้านม เช่น กระดูก ไขสันหลัง ปอด ตับ สมอง ขั้นตอนการรักษามะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีวิธีการรักษาแบบบูรณาการหลากหลายองค์ประกอบ (multimodality) ร่วมกัน ได้แก่ การตรวจวิเคราะห์ลักษณะเนื้อเยื่อการตอบสนองต่อฮอร์โมน ชิ้นเนื้อประวัติสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อจำแนกระยะของมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบให้ชัดเจน ผ่านการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม พร้อมอัลตร้าซาวด์เต้านม ซึ่งการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม จะรายงานผลการตรวจจากปกติไปจนถึงผิดปกติ BIRADS (Breast Imaging Recording And Data System) คือ
BIRADS 1 :
ไม่มีความผิดปกติของเต้านม
BIRADS 2 :
มีความผิดปกติในเต้านม เช่น ก้อนเนื้อ ถุงน้ำ โดยความผิดปกติเหล่านี้เมื่อวินิจฉัยแล้วไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม
BIRADS 3 :
มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมน้อยกว่า 2% ต้องมีการตรวจติดตามอาการเป็นระยะ
BIRADS 4 :
ตรวจพบสิ่งที่สงสัยว่าผิดปกติ มีโอกาสเป็นมะเร็งได้
BIRADS 5 :
ตรวจพบความผิดปกติ ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 95 %
วิธีการรักษามะเร็งเต้านม1.การผ่าตัด มี 2 แบบ ได้แก่- การผ่าตัดเต้านมออกไปทั้งข้าง
- การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม
เป็นการผ่าตัดนำเอาก้อนเนื้อเต้านมเฉพาะส่วนที่มีปัญหา และเนื้อเยื่อรอบๆในขอบเขตที่เหมาะสมออกไปเท่านั้น และตามมาด้วยการฉายรังสี ร่วมกับตรวจประเมินต่อมน้ำเหลือง เพื่อการรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้
เช่น ผิวหนังบริเวณที่ผ่าตัดเต้านมมีการดึงรั้ง หรือขาดเลือด ภาวะแขนชา แขนบวม ข้อไหล่ติด ในรายที่มีการตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง และหลังผ่าตัดมีการใช้งานขยับเคลื่อนไหวข้อหัวไหล่ไหล่น้อย เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวผู้เข้ารับผ่าตัดต้องมีการทำกายภาพร่วมด้วย
2.การฉายรังสี- สำหรับการรักษาต่อเนื่องในผู้ที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม
- ผู้ที่มีก้อนเนื้อเต้านมที่เป็นมะเร็ง มีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร
- มะเร็งเต้านมที่มีการลุกลามไปยังรักแร้
- การเลาะต่อมน้ำเหลืองที่ไม่สามารถประเมินผลมะเร็งเต้านมได้ชัดเจน
3.การใช้ยาต้านฮอร์โมน
การรักษาวิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษาในผู้ป่วยที่มีผลการตอบสนองฮอร์โมนผลเป็นบวก โดยก่อนเข้ารับการรักษาวิธีนี้ต้องมีการตรวจเนื้อเยื่อของเต้านมเพื่อวิเคราะห์การตอบสนองต่อฮอร์โมนหรือไม่
4.การใช้เคมีบำบัด (คีโม)
เป็นการใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งเต้านม โดยกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาจะมีผลกับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวมากนอกจากเซลล์มะเร็ง เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์ไขกระดูก เป็นต้น นั่นหมายความว่าการใช้ยาเคมีบำบัดจะมีผลต่อการทำงานทั้งระบบของร่างกายทั้งเซลล์ที่ปกติและผิดปกติ
5.การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ (Targeted therapy)
เป็นการใช้ยาที่ยับยั้งการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยปัจจุบันในประเทศไทยการรักษาวิธีนี้ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ซึ่งก่อนการใช้ยาเพื่อรักษานั้นผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเนื้อเยื่อเต้านม เพื่อวิเคราะห์การตอบสนองต่อฮอร์โมน และการตรวจ Human epidermal growth factor receptor (HER2) โปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยมีผลเป็นบวกมีค่าเข้าเกณฑ์การรักษา
การป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม
เนื่องจากสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่ยังไม่ชัดเจน การดูแลสุขภาพด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่สามารถควบคุมได้ เช่น น้ำหนัก การรับประทานอาหาร ผลิตภัณฑ์รวมไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะช่วยป้องกันและรู้ทันความผิดปกติได้ในระยะแรกเริ่ม เพิ่มโอกาสในการรักษาหายสูง ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 33%
โดยแนะนำการตรวจคัดกรองะเร็งเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง ร่วมด้วยกับวิธีการตรวจเฉพาะทาง ดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตร้าซาวด์เต้านม สำหรับผู้หญิงทุกคนที่อายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป อย่างน้อย 1 ครั้ง หากไม่พบความผิดปกติสามารถตรวจได้อีกครั้งเมื่ออายุ 40 ปี เมื่ออายุ 40 ปี แนะนำตรวจทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
บทความโดย
พญ.นปภา ฉายอำพร
ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเปาโลเกษตร