โรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่อายุ 2 ขวบขึ้นไปจนถึงวัยสูงอายุ แต่ส่วนใหญ่มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 15 – 30 ปี
✦ ไส้ติ่งอักเสบ
เกิดจากการที่มีสิ่งอุดตันบริเวณโคนไส้ติ่ง เช่น ก้อนอุจจาระที่แข็ง (fecalith) หรือพยาธิมาอุด อาจเกิดจากชั้นน้ำเหลืองโต หรือเนื้องอกบริเวณไส้ติ่งหรือลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ทำให้ไส้ติ่ง หลังการอุดตันจะเกิดการอักเสบบวม อาการปวดถ้าขาดการวินิจฉัย จะมีอาการชัดเจนขึ้น เช่น ปวดมากขึ้นที่ท้องน้อยขวาล่าง หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย ถ้าเกินวัน อาจมีภาวะแทรกซ้อนของไส้ติ่งอักเสบรุนแรงร่วม ได้แก่ ผนังไส้ติ่งอักเสบเน่าหรือทะลุ หรือเกิดเป็นฝีบริเวณช่องท้องได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมาทำให้รักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น ท้องอืดหลังผ่าตัดกินไม่ได้ บางรายมีภาวะลำไส้อุดตันจากผังผืดที่เกิดจากการอักเสบในช่องท้องมารัดลำไส้ตามมา
✦ อาการ
ระยะแรกที่ไส้ติ่งเริ่มอุดตันผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดจุกแน่นท้องบริเวณสะดือหรือลิ้นปี อาการช่วงนี้จะคล้ายโรคลำไส้เล็กอักเสบมหรือกระเพาะอาหารอักเสบ ต่อมาเมื่อไส้ติ่งที่อุดตันเริ่มขาดเลือดหรืออักเสบ อาการปวดจะเป็นมากขึ้นและตำแหน่งปวดชัดเจนขึ้นบริเวณท้องขวาล่าง โดยมักมี อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรืออาเจียน หรือถ่ายเหลวได้ครั้งล่ะไม่มากแต่บ่อยครั้งได้ โดยเฉพาะในชนิดไส้ติ่งอักเสบที่วางอยู่หลังลำไส้ใหญ่ส่วนต้น กรณีมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบร่วม มักมีอาการปวดรุนแรงตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาขยับร่างกายสะเทือน เช่น ไอ จาม
✦ การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยหาไส้ติ่งอักเสบ จะเริ่มด้วยการซักประวัติผู้ป่วยและตรวจร่างกาย ซึ่งการตรวจร่างกายโดยศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์จะช่วยการวินิจฉัยได้ดี บางครั้งสามารถพอทราบลักษณะชนิดของไส้ติ่งที่อักเสบได้ ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีเม็ดเลือดขาวสูง หรือเม็ดเลือดชนิด neutrophil สูง และปัสสาวะ ตรวจการตั้งครรภ์ ร่วมกับการตรวจด้วย การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องและฉีดสารทึบรังสี (CT Abdomen with contrast) เพื่อแยกจากโรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายไส้ติ่ง เช่น ปีกมดลูกอักเสบเป็นหนองหรือเนื้องอกรังไข่ข้างขวา เนื้องอกลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ลำไส้เล็กส่วนปลายอักเสบ หรือนิ่วในท่อไต ซึ่งปัจจุบัน CT abdomen จะมีความละเอียดแม่นยำสูง
✦ แนวทางการรักษา
1. การผ่าตัดแบบธรรมดา (Open Surgery)
✱ ผ่าตัดบริเวณท้องน้อยด้านขวา
✱ ขนาดแผล 3 – 10 เซนติเมตร
✱ กรณี ไส้ติ่งแตก อาจจะต้องเปิดแผลขนาดยาวกลางท้องเพื่อทำการล้างภายในช่องท้อง
2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery)
ปัจจุบัน การรักษาไส้ติ่งอักเสบสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง ขนาดแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ไว และประสิทธิภาพการรักษาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไส้ติ่งอักเสบแบบที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไส้ติ่งอักเสบรุนแรงผนังเน่า หรือไส้ติ่งอักเสบแตกมีหนองในช่องท้อง ซึ่งในการผ่าตัดดังกล่าวได้ผลการรักษาดีในมือศัลยแพทย์ที่ชำนาญการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยในรายที่การอักเสบไม่รุนแรงสามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องตัดไส้ติ่งแบบแผลเดียวได้ (Single Incision Laparoscopic Appendectomy)
✱ แผลขนาดเล็ก 1 – 2 เซนติเมตร บริเวณสะดือ
✱ กรณีที่การวินิจฉัยยังไม่แน่นอน แต่มีอาการรุนแรง การส่องกล้องจะสามารถตรวจสอบโรคได้ดีกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา
✱ เจ็บแผลผ่าตัดน้อยกว่า
✱ ลดระยะเวลาใสนการพักฟื้นที่โรงพยาบาล สามารถกลับไปดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เร็วกว่าผ่าตัดแบบธรรมดา
✱ ลดภาวะแทรกซ้อน แผลสวยกว่าแบบธรรมดา
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset