รู้ทัน ป้องกันโรคข้อเสื่อม และโรคกระดูกพรุน
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
14-มิ.ย.-2566

รู้ทัน ป้องกันโรคข้อเสื่อม และโรคกระดูกพรุน

โรคข้อเสื่อม และโรคกระดูกพรุนแตกต่างกันอย่างไร

โรคกระดูกพรุน คือการที่ตัวเนื้อกระดูกบางลง มีรูพรุนที่กระดูกมากขึ้น ทำให้มวลเนื้อกระดูกลดลง จึงส่งผลให้กระดูกเปราะบาง แตกหักง่าย ที่ตำแหน่งกระดูกสันหลังทำให้กระดูกสันหลังยุบตัว ซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บปวด และหลังโก่ง คด งอ มากขึ้นได้ ซึ่งตำแหน่งที่มักพบว่ามีกระดูกพรุนบ่อย คือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก - ต้นขา พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักไม่แสดงอาการออกมา แต่จะรู้ว่าเป็นกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อเราหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมาก แต่ทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น



โรคข้อเสื่อม
โดยทั่วไปแล้วโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุก ๆ ข้อของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จะพบมากบริเวณข้อใหญ่ ๆ และข้อที่รองรับน้ำหนักตัวของเรา เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก หรือข้อเท้า ในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มักเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคข้อเสื่อมจริง ๆ แล้วเกิดจากการที่ข้อต่อต้องเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักต่อเนื่องสะสมกันมาเป็นระยะเวลานาน หรือเคยมีอุบัติเหตุบาดเจ็บบริเวณข้อมาก่อน ทำให้เกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อ เกิดเป็นความขรุขระ ไม่เรียบของผิวกระดูกอ่อน ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน เกิดอาการเจ็บที่บริเวณข้อ และเคลื่อนไหวติดขัด ตามระดับความรุนแรงของโรค

ซึ่งโรคกระดูกพรุน และโรคข้อเสื่อม มีความแตกต่างกัน วิธีการดูแลรักษาแตกต่างกัน โดยถ้าหากเป็นโรคกระดูกพรุน ก็ต้องรักษาโดยการเสริมแคลเซียมร่วมกับการให้ยาชะลอการสลายตัวของเนื้อกระดูก แต่ถ้าหากเป็นโรคข้อเสื่อม ก็จำเป็นจะต้องให้การรักษาตามระยะความรุนแรงของโรค โดยเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับประทานยา ฉีดยาเข้าข้อเข่า หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารหรือแคลเซียมและวิตามินเสริม ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อม และโรคกระดูกพรุนในอนาคต


🔹
บทความสุขภาพ🔹
➮ สะดุดเวลาขยับนิ้ว ระวังโรคนิ้วล็อค 
➮ หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตในยุคสังคมก้มหน้า 
➮ นวัตกรรมใหม่ รักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โดยการจี้หมอนรองกระดูกด้วยคลื่นวิทยุ 
➮ เทคนิคการผ่าตัด โรคกระดูกและข้อ 
➮ โรคกระดูกพรุน 




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset