โรคมะเร็งไม่ได้เกิดแค่ผู้สูงวัย
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
โรคมะเร็ง หลายคนอาจคิดว่าเสี่ยงเป็นได้เฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ร่างกายเริ่มเสื่อมถอย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆได้ง่าย แต่ความจริงแล้วโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย เพราะส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตที่ไลฟ์สไตล์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกิน การออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ก็อาจจะลุกลามไปยังระยะที่ 3 หรือ 4 แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่มักจะรอให้มีอาการก่อนถึงจะมาตรวจคัดกรอง ซึ่งหากเป็นแบบนั้นก็อาจทำให้ยากต่อการรักษาให้หายขาดได้


โรคมะเร็งเกิดจากอะไร ทำไมต้องระวัง ?

โรคมะเร็ง เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม โดยมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่น ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ ลำไส้ เต้านม และต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น ซึ่งโรคมะเร็งจะมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของโรค และชนิดของเซลล์มะเร็ง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในแต่ละวันร่วมด้วย เช่น
  • พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารแปรรูปต่างๆ
  • การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • ความเครียด
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และขาดการออกกำลังกาย
  • การสัมผัสสารพิษในสิ่งแวดล้อม
  • ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
  • ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน

แล้วจะรู้ได้ไงว่าเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง

เพราะร่างกายของเราเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงต้องหมั่นสังเกตุร่างกายอยู่เสมอ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกาย ก็จะได้หาแนวทางการป้องกัน หรือการดูแลรักษา ได้อย่างถูกวิธี ก่อนที่โรคมะเร็งจะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ
อาการเริ่มต้นของโรคมะเร็ง
  • ระบบขับถ่ายผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงในการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ
  • แผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย โดยเป็นนานมากกว่า 3 สัปดาห์
  • มีเลือดไหลผิดปกติออกมาจากบริเวณช่องต่างๆ ของร่างกาย เช่น หัวนม จมูก ช่องคลอด
  • คลำพบก้อนที่เต้านมหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • ท้องอืด กลืนอาหารลำบาก หรือระบบการย่อยผิดปกติ
  • ไฝหรือหูดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติหรือมีเลือดออก
  • มีอาการไอที่ผิดปกติ เช่น ไอเรื้อรัง ไอปนเลือด

โรคมะเร็งมีกี่ระยะ
  • ระยะที่ 1 ก้อนเนื้อ หรือแผลมะเร็งมีขนาดเล็ก และยังไม่ลุกลาม
  • ระยะที่ 2 ก้อนเนื้อ หรือแผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มลุกลามไปยังภายในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ
  • ระยะที่ 3 ก้อนเนื้อ หรือแผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง
  • ระยะที่ 4 เป็นระะยะเซลล์มะเร็งแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่น เช่น ช่องท้อง ตับ ลำไส้ และปอด โดยเซลล์มะเร็งจะแบ่งตัว และเติบโตเหนือการควบคุมของร่างกาย รวมถึงสามารถเติบโตลุกลามเข้าไปในอวัยวะใกล้เคียงได้ โดยจะลุกลามเข้าทางกระแสเลือด และต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็ง ที่พบได้ตั้งแต่วัยทำงาน
1. มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ชนิดที่ 16 และ 18 ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหลายคน สูบบุหรี่ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

2. มะเร็งเต้านม เกิดจากเซลล์ภายในเต้านมที่มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ โดยที่เซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และโตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นก้อนใหญ่ และสามารถคลำพบได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี หรือรักษาก่อนโรคมะเร็งจะลุกลาม อาจทำให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง

3. มะเร็งตับ เกิดจากการกลายพันธุ์ และเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ตับ ส่วนใหญ่มักมีโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของตับมาก่อน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การดื่มสุรา ไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี และการได้รับสารบางชนิด เช่น อะฟลาท็อกชิน ซึ่งมาจากเชื้อราที่ปนอยู่ในอาหารแห้ง ธัญพืช ถั่วเหลือง เเละถั่วลิสง แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือไขมันพอกตับ อาจเกิดมะเร็งตับได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีภาวะตับแข็งนำมาก่อนได้

4. มะเร็งปอด เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ภายในปอดที่ผิดปกติอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เซลล์ที่เสียหายเกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) และพัฒนาเป็นมวลหรือก้อนเนื้อร้ายที่ไปขัดขวางกระบวนการการทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ หรือมีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยมะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) และมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer)

5. มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักจะพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งเกิดจากก้อนเนื้อร้ายในท่อลำไส้ จากติ่งเนื้อเล็กๆ จนเกิดการตีบ ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับระบบขับถ่าย ซึ่งสังเกตจากอุจจาระที่มีขนาดเล็กลง หรืออุจจาระเหลวมากผิดปกติ เเละอาจมีมูกเลือดปนออกมาด้วย ผู้ป่วยบางรายมีภาวะซีด เพราะเสียเลือดในขณะถ่ายหนักแบบเรื้อรัง แต่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งในแต่ละระยะ
การรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง และระยะของมะเร็ง เพื่อวางแผนการรักษาให้ตรงจุดเฉพาะบุคคล และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยในกรณีที่มะเร็งยังไม่มีการลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น และสามารถควบคุมได้ จะรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แต่หากมะเร็งมีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ก็อาจจะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นก่อน เพื่อควบคุม ยับยั้ง และลดจำนวนเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลามไป แล้วค่อยทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง


เพราะฉะนั้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้เรารู้ถึงปัญหา หรือสาเหตุของโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสในการป้องกัน และการรักษาให้หายได้มากกว่าการตรวจพบเจอในขั้นที่รุนแรงแล้ว


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

คลินิกอายุรกรรม อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5188 - 5189