หยุดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานได้อย่างไร
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
16-พ.ย.-2561
เบาหวานเป็นโรคที่พบได้มากในยุคปัจจุบัน โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มคนอ้วน น้ำหนักเกิน ไม่นิยมการออกกำลังกาย และคนที่ชอบรับประทานของหวาน และปัจจุบันเราพบว่าเบาหวานชนิดที่เราพบได้บ่อยก็คือ เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นโรคทีเกิดขึ้นเมื่อร่างกายของเรามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2นี้ร่างกายจะไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

อย่างไรก็ตามเราสามารถพบโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ได้ในกลุ่มคนวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วนดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือคนที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นเบาหวาน เราสามารถป้องกันตนเองได้เพียงหมั่นสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง และสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกายดังต่อไปนี้

1. กินน้ำเก่ง ปัสสาวะบ่อย
2. หิวบ่อย
3. อ่อนเพลีย
4. ตาพร่ามัวเห็นไม่ชัด
5. ชาตามมือ ตามเท้า
6. เป็นแผลและหายยาก หรือ มีแผลเป็น
7. น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ

เบาหวานไม่ได้หวานเหมือนชื่อ

คนไข้เบาหวานโดยส่วนใหญ่ เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้ว มักจะมีสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือโรคแทรกซ้อน ต่าง ๆ ทั้งโรคแทรกซ้อนอันตรายที่ส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต ทั้งโรคแทรกซ้อนบางชนิดที่แม้จะไม่ร้ายแรงแต่ก็ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจาก การที่ผู้ป่วย ขาดการดูแลตนเอง ละเลยการดูแลตนเองและไม่ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้

4 โรคยอดฮิต ลำดับต้น ๆ ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน

1. ไตวายเฉียบพลัน อาการแทรกซ้อนของโรคไต ในผู้ป่วยเบาหวานมีผลมาจากการที่น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเมื่อระดับน้ำตาลทน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดที่อยู่ในไต ทำให้ไตเสื่อมลง นำไปสู่การมีโปรตีนในปัสสาวะ และส่งผลให้เกิดควาเสียหายต่อไตและเมื่อปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันซึ่งมีความร้ายแรงและอาจส่งผลต่อชีวิตได้
2. จอประสาทตาเสื่อม และ โรคเบาหวานขึ้นตา ถือโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานโดยมีสาเหตุมากจากการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี เมื่อระดับน้ำตาลเลือดไม่คงที่ร่างกายจะขับน้ำตาลไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึง ดวงตา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความผิดปกติบริเวณดวงตา ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เกิดกับตา เช่น ต้อชนิดต่าง ๆ จอประสาทตาเสื่อม สูญเสียการมองเห็น และหากร้ายแรงอาจส่งผลให้ตาบอดได้
3. โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักจะมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญก็คือ หลอดเลือดแข็ง สาเหตุก็มาจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสะสมเป็นปริมาณมาก และส่งผลให้เส้นเลือดหนาขึ้น เมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ หลอดเลือดก็จะแข็งและตีบตัน และเมื่อเกิดกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะใด ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคที่อวัยวะนั้น เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ซึ่งโรคแทรกซ้อนดังกล่าวนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นโรคแทรกซ้อนอันตรายที่มีอัตราการเสียชีวิตและพิการของผู้ป่วยเบาหวานเป็นจำนวนมาก
4. อาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบประสาทของผู้ป่วยเบาหวาน อาจจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เมื่อผู้ป่วยเบาหวานได้รับบาดเจ็บหรือได้รับแผล ก็จะไม่รู้สึกตัว แต่ก็จะก่อให้เกิดเป็นแผลเป็นขึ้นมาและแผลก็หายช้ากว่าคนปกติ ซึ่งหากขาดการดูแลอาจจะส่งผลให้เกิดอาการอักเสบและลุกลามจนเกิดภาวะติดเชื้อซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

และสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเรามักจะพบว่า อวัยวะที่มีปัญหาการเจ็บป่วยมากที่สุดก็คือ เท้า เนื่องจาก เท้าเป็นอวัยวะที่ผู้ป่วยใช้เดิน มีโอกาสเกิดบาดแผลมากที่สุด และเมื่อมีแผลผู้ป่วยก็มักจะไม่ทราบว่าตนเองมีบาดแผลเนื่องจากเสียการรับรู้ที่ปลายประสาท จะรู้ว่าตนเองบาดเจ็บก็เมื่อเห็นแผลหรือแผลเริ่มลุกลามไปแล้ว ดังนั้น หมอทุกคนจึงให้ความสำคัญกับการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ไม่แพ้การดูแลด้านอื่น ๆ

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเบาหวาน

การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายๆ ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา สิ่งที่ผู้ป่วยควรให้ความสำคัญและปฏิบัติตามก็คือ

1. พบแพทย์เพื่อติดตามอาการ และตั้งใจดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างสม่ำเสมอ
2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปกติให้มากที่สุดด้วย การควบคุมอาหารการกิน โดยงดการกินอาหารหวาน งดการกินแป้งในปริมาณมากเกินไป เน้นการกินผัก
3. ออกกำลังกายเพื่อเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ
4. ละเลิกความเครียดทำใจให้สบาย เพราะความเครียดถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงได้
5. ลดปัจจัยการเกิดโรคเบาหวานต่าง ๆ อาทิ ดูแลตัวเองเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกาย และ พยายามไม่เครียด ทำได้เท่านี้ก็จะห่างไกลโรคเบาหวานได้แล้ว