การปวดประจำเดือนแบบไหน เรียกว่า “ผิดปกติ”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
14-มิ.ย.-2566

“การปวดประจำเดือน” เป็นอาการที่รบกวนคุณภาพชีวิตของสาวๆ แทบทุกคน บางคนปวดน้อย บางคนปวดมาก หรือบางคนก็ปวดหนักจนขยับตัวไม่ไหวเลยก็มี แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดที่สาวๆ เป็นกันอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรือว่ากำลังมีความผิดปกติที่ซ่อนอยู่กันแน่ วันนี้เรามีข้อสังเกตที่อยากให้ลองเช็กกัน


อาการ “ปวดประจำเดือน” เกิดจากอะไร?

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ที่เราปวดประจำเดือนนั้น ก็เพราะมีการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก แต่สิ่งที่เราิอาจไม่รู้ก็คือ ระหว่างการลอกตัวนี้จะมีสารชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Prostaglandins เกิดขึ้น เพื่อทำให้มดลูกบีบตัวและขับเยื่อบุมดลูกออกมา ซึ่งปกติการที่มดลูกบีบตัวเป็นจังหวะก็จะทำให้มีอาการปวดบีบ แต่จะปวดมากหรือปวดน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน


ปวดประจำเดือนนิดหน่อย…เป็นเรื่องปกติ

หากมีอาการปวดประจำเดือนนิดๆ หน่อยๆ เป็นเฉพาะในช่วง 1-2 วันแรก โดยปวดบริเวณกลางท้องน้อย ซึ่งเกิดจากการปวดตามธรรมชาติของมดลูกที่มีการบีบตัวไล่ประจำเดือนออกมา ลักษณะอาการปวดจะปวดท้องส่วนล่าง ปวดร้าวไปถึงหลังหรือต้นขาได้ ซึ่งพออายุมากขึ้นอาการแบบนี้ก็จะลดลง อาการปวดลักษณะนี้จะไม่มีอันตรายใดๆ เป็นแค่การปวดประจำเดือนตามธรรมชาติ แต่หากมีอาการปวดน้อยแต่ปวดนานหลายวันมาก ก็ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน


ปวดมากผิดปกติ…ให้เริ่มสงสัย

อาการปวดประจำเดือนมากผิดปกตินี้ จะเกิดจากมดลูกหดเกร็งที่อาจเกิดจากการมีพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานหรือมีโรค ซึ่งโรคที่พบบ่อยจะเป็น ‘เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่’ ซึ่งเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไหลย้อนกลับเขาไปในช่องท้อง ทำให้เกิดพังผืดในช่องท้อง ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดช็อกโกแลตซีสต์ได้ ดังนั้น ถ้าสาวๆ คนไหนเคยมีประวัติปีกมดลูกอักเสบ มีประวัติมีลูกยาก แล้วปวดประจำเดือนมากๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน ซึ่งอาจจะมีการตรวจพิเศษ เช่น การทำอัลตร้าซาวด์ หรือทำการส่องกล้องเพิ่มเติม


จะปวดน้อยหรือปวดมาก…หากรู้สึกว่าผิดปกติ ก็ควรรีบพบแพทย์

เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าอาการปวดท้องประจำเดือนของตัวเองอาจมีความผิดปกติ หรือปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของการเป็นโรคร้ายได้เช่นกัน โดยเฉพาะบางคนที่ปวดมากๆ จนไปเรียนหรือไปทำงานไม่ไหว ส่วนใหญ่แล้วจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคที่ซ่อนอยู่ภายใน


การไปพบแพทย์เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจและวินิจฉัยโรคจึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะโรคบางอย่างหากตรวจพบช้าไป โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็จะน้อยลง ทั้งนี้ การตรวจภายในจะช่วยให้พบโรคในอุ้งเชิงกรานได้เร็ว เป็นเหมือนทั้งการป้องกันการลุกลาม และการได้เริ่มรักษาอย่างตรงจุด ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายดีได้ และยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการรักษาในระยะลุกลามอีกด้วย




สอบถามรายละเอียด
ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 5148 5220