ท้องไตรมาสแรก ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ต้องระวัง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
เพราะกว่าจะรู้ว่าตั้งครรภ์ หรือมีอีกหนึ่งชีวิตเข้ามาเติมเต็มความสุขให้กับครอบครัว คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจจะต้องกำลังเผชิญกับอาการแปลกๆ ในช่วงแรกๆ ของการตั้งท้องโดยเฉพาะสามเดือนแรก ไม่ว่าจะ อาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ และเบื่ออาหาร นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ที่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกหงุดหงิดง่าย เพราะฮอร์โมนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มสูงขึ้น

ท้องไตรมาสแรก คืออายุครรภ์กี่สัปดาห์ ?
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์เดือนแรกหรือสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์นั้น แพทย์จะเริ่มนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นวันแรกของการตั้งครรภ์ และนับไปจนครบ 40 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการคาดคะเนของวันกำหนดคลอด
  • ไตรมาสที่ 1 คือ เดือนที่ 1-3 หรือ 1-13 สัปดาห์ 
  • ไตรมาสที่ 2 คือ เดือนที่ 4-6 หรือ 14-27 สัปดาห์ 
  • ไตรมาสที่ 3 คือ เดือนที่ 7-9 หรือ 28-40 สัปดาห์

ท้องช่วงไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 1-3 เดือน) มีอาการอะไรบ้าง ?
  • เจ็บ หรือคัดตึงเต้านม
  • วิงเวียนศีรษะ
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด
  • เหนื่อย อ่อนเพลีย จนอยากนอนพักมากขึ้น
  • มีอาการแพ้ท้อง เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะแรก
  • รับประทานอาหารไม่ได้ หรือเบื่ออาหาร
ซึ่งหากคุณแม่มีการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็อาจช่วยให้คุณแม่สามารถรับมือกับอาการเหล่านี้ได้ เนื่องจากแพทย์จะมีการแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพให้กับคุณแม่ เพื่อไม่ให้คุณแม่รู้สึกความกังวลได้ตลอดช่วงตั้งครรภ์

วิธีดูแลตัวเองตอนท้องไตรมาสแรก หรือช่วงท้องอ่อนๆ
1. ฝากครรภ์ เป็นการตรวจติดตามตั้งแต่เริ่มครรภ์จนถึงคลอด ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจติดตามเป็นระยะตามในแต่ละช่วงไตรมาส โดยในระยะแรกแพทย์จะนัดตรวจทุก 4 สัปดาห์ จนถึงไตรมาสที่ 2 จึงจะนัดถี่ขึ้นเป็น 2 สัปดาห์ และ 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคบางอย่างระหว่างตั้งครรภ์ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดความผิดปกติก็จะสามารถรักษาได้ทันทีจากทีมแพทย์เฉพาะทาง

2. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะเป็นช่วงที่ทารกมีการสร้างอวัยวะ แต่ยังไม่มีการขยายขนาดของร่างกายมากนัก น้ำหนักตัวคุณแม่อาจเพิ่มขึ้น 1-2 กิโลกรัม ในช่วงอายุครรภ์ 1-3 เดือน คุณแม่จึงต้องเน้นเลือกทานเนื้อสัตว์ ไข่ นม เพื่อเติมโปรตีนที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อเยื่อ และการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง หรืออาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างเครื่องในสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง ผักสีเขียวเข้ม เพราะจะช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง และลดความพิการทางสมองของทารกในครรภ์ได้
และอาหารที่ควรงด และหลีกเลี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คือ อาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารรสจัด และอาหารที่มีไขมันสูง
แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง อาเจียนบ่อยครั้งในแต่ละวัน ควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อยๆ แต่ทานให้บ่อยครั้ง และหลีกเลี่ยงอาหารทอดหรือมีกลิ่นรุนแรง ซึ่งคุณแม่อาจดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ หรือรสเปรี้ยวเพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้

3. ควรงดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น พัฒนาการล่าช้า คลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร และอาจเสี่ยงพิการได้

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคุณแม่สามารถทำได้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยผ่อนคลายความเครียด โดยการออกกำลังกายนั้นอาจจะเลือกการออกกำลังกายด้วยวิธีง่าย ๆ เบา ๆ เช่น การเล่นโยคะ การเดินเบาๆ และการเดินในน้ำ
แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะแท้งคุกคาม ควรงดการออกกำลังในช่วง 3 เดือนแรก เพราะยังคงมีโอกาสแท้งบุตรได้ รวมทั้ง คุณแม่ที่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด ก็ควรงดออกกำลังกายตลอดช่วงการตั้งครรภ์

5. การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจยกเว้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เคยมีประวัติแท้งบุตรมาก่อน เคยคลอดก่อนกำหนด และมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ เพราะอาจเสี่ยงอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ในช่วงไตรมาสแรก

การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ ในช่วงท้องไตรมาสแรก
ในช่วงไตรมาสแรกทารกในครรภ์จะเป็นตัวอ่อนอยู่ในครรภ์ และเป็นช่วงที่เส้นประสาทไขสันหลัง หรืออวัยวะที่สำคัญในร่างกายเริ่มสร้างไปพร้อมๆกับโครงสร้างของใบหน้า เช่นเดียวกับระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งสิ่งสำคัญที่คุณแม่จะต้องระวังก็คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หรือการทำให้สภาพจิตใจสมบูรณ์ ไม่เครียดจนเกินไป เพราะในระยะนี้เป็นระยะที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยตรง

ท้องไตรมาสแรก ภาวะเสี่ยงที่ต้องระวัง
ภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ จะขึ้นกับโรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โลหิตจาง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และโรคธาลัสซีเมีย รวมถึงอายุของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ก็มีผลต่อความเสี่ยงเช่นกัน โดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 15 ปี หรือมีอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งหากคุณเเม่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ควรปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ หรือเกิดภาวะการเเท้งบุตรได้


เพราะฉะนั้น การดูแลใส่ใจในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จึงถือความเป็นสำคัญ เพื่อให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรง และคลอดออกมาอย่างปลอดภัย


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
Line : Paolochokchai4