รู้ลึกเรื่องการผ่าตัดรักษาโรคทางศัลยกรรม นิ่วในถุงน้ำดี ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
16-มิ.ย.-2566

เมื่อพูดถึงการ “ผ่าตัด” หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ บางคนก็กังวลมากจนกลายเป็นกลัวการผ่าตัด แต่เราอยากจะบอกว่า... อย่าเพิ่งกังวลใจไป! หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องได้รับ “การผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดี ริดสีดวงทวาร หรือไส้เลื่อน” เพราะในปัจจุบัน หากเรารู้วิธีการเตรียมตัวที่ดี เริ่มตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด รู้ขั้นตอนการผ่าตัด และวิธีดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด บอกได้เลยว่า... แค่ทำตามที่แพทย์แนะนำก็อุ่นใจได้แล้ว! เพราะการผ่าตัดในปัจจุบันพัฒนาไปมาก และโดยส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายวันเหมือนเมื่อก่อน 


เตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด

สำหรับวิธีการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดทั้ง 3 โรค ทั้งนิ่วในถุงน้ำดี ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อนนั่น ไม่ต่างกับการผ่าตัดทั่วไป คือ

  • ควรงดดื่มน้ำและอาหารตามแพทย์สั่ง 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

  • พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง

  • หากมีโรคประจำตัวที่ต้องทานยาเป็นประจำ ให้แจ้งแพทย์ก่อนการผ่าตัด

  • งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนผ่าตัด 4-6 สัปดาห์

  • ควรทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดบางชนิดแผลจะไม่ควรโดนน้ำ 


ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

โดยปกติแล้วการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีสามารถทำได้ 2 แบบ คือ

1. การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open cholecystectomy) และ
2.
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy)


โดยการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง จะทำในกรณีที่ถุงน้ำดีมีการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง ซึ่งแพทย์จะทำการเปิดแผลบริเวณท้อง ตำแหน่งใต้ชายโครงขวายาวประมาณ 10 ซม. ส่วนการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แพทย์จะผ่าตัดโดยการเจาะเพียงรูเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง แล้วสอดท่อที่มีไฟฉายรวมถึงกล้องขนาดเล็กลงไปเพื่อส่งภาพมายังจอมอนิเตอร์ และสอดเครื่องมือในการผ่าตัดเข้าไป ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านจอโทรทัศน์ได้อย่างแม่นยำ แผลจึงมีขนาดที่เล็กมาก ผู้ป่วยจะเจ็บน้อย ฟื้นตัวไว และใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน เท่านั้น


ผ่าตัดริดสีดวงทวาร

สำหรับการผ่าตัดริดสีดวงทวาร สามารถแบ่งออกได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น
1. การตัดริดสีดวง 

สำหรับการผ่ารักษาริดสีดวงแบบนี้ จะใช้ในกรณีที่มีริดสีดวงภายนอกขนาดใหญ่ หรือริดสีดวงภายในหย่อนออกจากลำไส้ตรง โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกก่อนผ่าตัด จากนั้นจึงผ่ารอบทวารหนักและนำริดสีดวงออกมา โดยจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์ หรือนานที่สุดอาจจะ 3-6 สัปดาห์

2. การตัดเย็บหัวริดสีดวง 

หากผู้ป่วยมีริดสีดวงหย่อนออกมาภายนอก แพทย์จะใช้เครื่องมือตัดเย็บริดสีดวงให้กลับเข้าไปในลำไส้ตรง เพื่อปิดกั้นไม่ให้เลือดไหลไปเลี้ยงริดสีดวง ทำให้เนื้อเยื่อเล็กลงและตายไป วิธีนี้เป็นการผ่าที่มีเลือดออกน้อย ไม่ค่อยรู้สึกระคายเคือง ใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่ารักษาด้วยวิธีตัดริดสีดวง

3. การเย็บผูกริดสีดวงทวาร 

วิธีนี้เป็นวิธีผ่าตัดเพื่อลดการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงริดสีดวง ทำให้ริดสีดวงเล็กลง โดยหลังจากฉีดยาระงับความรู้สึก แพทย์จะสอดอุปกรณ์อัลตร้าซาวด์เข้าไปในทวารหนัก และทำการเย็บหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงริดสีดวงให้ปิดสนิท


ผ่าตัดไส้เลื่อน

การรักษาโรคไส้เลื่อน สามารถทำได้โดยการผ่าตัด ซึ่งมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่

1. การผ่าตัดแบบเปิด และ

2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง 


โดยการผ่าตัดแบบเปิด แพทย์จะพิจารณาจากผู้ป่วยกรณีที่ไส้เลื่อนลงมาบริเวณขาหนีบและมีขนาดใหญ่มาก ส่วนการผ่าตัดแบบส่องกล้องมักทำในกรณีที่ไส้เลื่อนมีขนาดไม่ใหญ่มาก และไส้เลื่อนลงมาบริเวณขาหนีบทั้งสองข้าง หรือกรณีไส้เลื่อนกลับมาเป็นซ้ำ

ซึ่งการผ่าตัดทั้งสองวิธีนี้ แพทย์อาจใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยหรือใช้ตาข่ายสังเคราะห์มาปิดบาดแผล ซึ่งร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาห่อหุ้มตาข่ายจนสมานเข้ากับเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย หลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่ควรเพิ่มความดันในช่องท้อง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการไอหรือจาม ไม่เบ่งถ่ายอุจจาระบ่อย เป็นต้น


ดูแลตัวเองอย่างไร…หลังผ่าตัด

  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • งดการสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการไอ หรือจาม
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


นอกจากการรักษาที่มีประสิทธิภาพแล้ว การดูแลเตรียมความพร้อมทั้งก่อนและหลัง “การผ่าตัด” ก็สำคัญไม่น้อย เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวขึ้น ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้รวดเร็วขึ้น นั่นเอง!




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ศัลยกรรม อาคาร 1 ชั้น 1 

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร. 02-5144141 ต่อ 1101-1100