ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
26-ก.ย.-2561
title colonoscopy การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่าง เป็นการส่องกล้องตรวจดูลักษณะลำไส้ใหญ่จากทวารหนักจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น โดยใช้กล้องชนิดอ่อนโค้งงอได้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ความยาวประมาณ 160 ซม.

การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่างสามารถใช้ตรวจสภาพความผิดปกติของผนังลำไส้ เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและตัดเนื้องอกยางชนิดเพื่อการรักษาแทนการผ่าตัดเข้าช่องท้องได้

อาการของผู้ป่วยที่ควรได้รับการตรวจ

1.ผู้ที่ถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน หรือท้องผูกนานผิดปกติ
2.ผู้ที่เคยตรวจพบว่ามีก้อนในท้อง น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลีย
3.ผู้ที่มีลำไส้อักเสบเรื้อรังนานมากกว่า 8 ปีขึ้นไป
4.ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
5.บุคคลทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และแพทย์แนะนำให้รับการตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มแรก

การเตรียมตัวก่อนรับการส่องกล้องตรวจ

1.ผู้มีโรคประจำตัวหรือแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
2.ก่อนวันนัดตรวจ 7 วัน ให้หยุดยาป้องกันการสร้างลิ่มเลือด (Orfarin, Warfarin) หรือยาต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด (แอสไพริน, Plavix) เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่าย หรือยาที่มีธาตุเหล็กประกอบ เพราะจะไปเคลือบเป็นสีดำในลำไส้ ซึ่งรบกวนการตรวจ
3.ก่อนวันนัดตรวจ 2 วัน ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่ายและมีกากน้อย ได้แก่ ข้าวต้ม-โจ๊กเนื้อปลาหรือไข่ให้งดอาหารกากมาก เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้
4.ก่อนวันนัดตรวจ 1 วัน ให้รับประทานอาหารเหลวที่ไม่มีกาก เช่น น้ำผลไม้ชนิดใส น้ำผึ้ง น้ำซุบใส น้ำหวานไม่มีสี โจ๊กเหลว เป็นต้น
5.รับประทานยาระบายตามแพทย์สั่งเพื่อถ่ายระบายให้ลำไส้ใหญ่สะอาดและให้งดอาหาร ดื่มน้ำเปล่าได้ตามเวลาที่แพทย์สั่ง

การรับประทานยาระบาย

วันก่อนการตรว.เวลา18.00 น. รับประทาน Swiff 90 ml แล้วตามด้วยน้ำ 2 ลิตร ดื่มให้หมดใน 2 ชม. ในเช้าวันที่ตรวจจะสวนอุจจาระอีกครั้งก่อนส่องกล้อง

ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจ

1.ท่าในการตรวจ ผู้ถูกตรวจนอนตะแคงซ้าย ก้นชิดริมเตียง งอเข่าชิดอก
2.ให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ ท่านจะไม่รู้สึกตัวขณะตรวจ
3.แพทย์จะใส่กล้องส่องตรวจเข้าทางทวารหนักและเป่าลมเพื่อให้ลำไส้ขยาย เมื่อพบสิ่งผิดปกติ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการส่องกล้องตรวจ

1.งดน้ำและอาหารขณะนอนพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมงจากการได้ยากล่อมประสาท, ยาแก้ปวด, และเพื่อสังเกต อาการภาวะแทรกซ้อนหลังการส่องกล้อง เมื่อรู้สึกตัวดีให้รับประทานอาหารและญาติรับกลับบ้านได้ ผู้ป่วยไม่ควรขับรถเอง
2.ในรายที่แพทย์ได้ตัดชิ้นส่วนเนื้อส่งตรวจ หรือตัดติ่งเนื้อในลำไส้ออก ในระยะ 2 วันแรก อาจมีเลือดออกเล็กน้อยปนกับอุจจาระส่วนใหญ่เลือดหยุดได้เอง
3.พบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการรักษาและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง
4.ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน เป็นไข้หรือมีเลือดออกจากทวารหนักมากกว่าครึ่งถ้วยกาแฟ เป็นต้น ให้พบแพทย์ด่วน แต่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้น้อยมาก

หมายเหตุ

อาจพบอาการท้องอืดหรือแน่นท้อง ซึ่งเกิดจากลมที่ใส่เข้าไปในขณะตรวจ อาการจะหายเป็นปกติได้เองในเวลาไม่นาน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร 0-2514-4141 ต่อ 1210