“การเคลื่อนไหวผิดปกติ” โรคร้ายแรงของคุณหนูๆ ที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่เคยรู้จัก
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
05-ก.ย.-2561
สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้ว ไม่ว่าลูกน้อยจะเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นแม้แต่เพียงเล็กน้อย ย่อมสร้างความกังวลใจให้จนอาจกินไม่ได้นอนไม่หลับกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนาคือสุขภาพที่ดีของลูกน้อยในทุกย่างก้าวที่เขาเติบโต


การเคลื่อนไหวผิดปกติ…เกิดขึ้นได้อย่างไร

ปกติแล้วการเคลื่อนไหวของร่างกายจะเกิดขึ้นได้ด้วยการประสานการทำงานของศูนย์ต่างๆ ภายในสมอง ซึ่ง “โรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ” ก็เกิดจากความผิดพลาดของการควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นกลุ่มของอาการที่กระทบต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมร่างกายตนเองได้ตามปกติ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ส่วนอาการที่แสดงออกมานั้นก็จะขึ้นอยู่กับว่า เกิดจากความบกพร่องของสมองส่วนใดและมีหน้าที่ควบคุมร่างกายส่วนใด

การใช้งาน…หนึ่งปัจจัยหลักกระตุ้นความผิดปกติ

ถ้าเปรียบเทียบมนุษย์กับหุ่นยนต์แล้ว ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นประสาทของมนุษย์ ก็เหมือนกับฟันเฟืองและสายไฟต่างๆ ของหุ่นยนต์ ที่ทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้เป็นปกติ แต่เมื่อมีการใช้งานไปนานๆ ฟันเฟืองและสายไฟต่างๆ ก็อาจเกิดการชำรุดสึกหรอขึ้นได้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวได้ไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกัน ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นประสาทของมนุษย์ เมื่อถูกใช้งานไปนานๆ ก็อาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายไม่เป็นปกติ

สังเกตอาการ…เพื่อหาทางรักษาโรค

อาการที่มักจะพบบ่อยของโรคนี้ ได้แก่ อาการสั่น กระตุก ร่างกายบิดเกร็ง หรือมีท่าทางการเดินที่ผิดธรรมชาติ เนื่องจากการทำงานของสมองและระบบประสาทบกพร่อง โดยอาจเกิดขึ้นกับร่างกายทุกส่วนพร้อมกัน หรืออาจเกิดขึ้นเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ และหนึ่งในโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติที่พบบ่อยมากที่สุด คือ โรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการสูญเสียเซลล์สมองในส่วนที่สร้างสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ เรียบเรียงความคิด และควบคุมการเคลื่อนไหว ดังนั้นผู้ป่วยพาร์กินสันจึงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท การควบคุมร่างกาย และการทรงตัว อาการที่เด่นชัดที่สุดคือ การสั่น โดยเฉพาะที่มือข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะที่มือข้างนั้นอยู่เฉยๆ แต่จะลดลงหรือหายไปเมื่อมีการเคลื่อนไหว ส่วนอาการอื่นๆ ก็ได้แก่ การเกร็งที่แขนขาและลำตัว ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง และอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดการเกร็ง

เพียงแค่รู้จักวิธีการรักษา…ทุกอย่างก็มีทางออก

การรักษาการเคลื่อนไหวผิดปกติแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รักษาโรคอันเป็นสาเหตุของความผิดปกติ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่รักษาให้หายขาดได้ และกลุ่มที่ต้องรักษาด้วยวิธีประคองอาการ และการรักษาตามอาการ

1.สำหรับการรักษาที่โรค จะเริ่มต้นด้วยการใช้ยาร่วมกับทำกายภาพบำบัด โดยในผู้ป่วยพาร์กินสันจะให้ยาที่ส่งผลต่อการเพิ่มสารโดปามีนในสมองให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการปรับขนาดยาให้เหมาะสมตามอาการเพื่อลดผลข้างเคียงจากยา

2.ส่วนการกายภาพบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ด้วยการเสริมสร้างการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องเหมาะสมกับร่างกายแต่ละส่วน และบริหารร่างกายเฉพาะส่วนเพื่อแก้ไขความผิดปกติต่างๆ

3.อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษา คือ การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถควบคุมอาการของโรคได้อย่างต่อเนื่อง และสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยการกินยามาแล้วเป็นเวลานาน การออกฤทธิ์ของยาจะมีผลสั้นลง วิธีการนี้จึงเหมาะสมกับผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยยาได้ผล แต่มาถึงจุดที่การออกฤทธิ์ของยาสั้นลง จนเหลือเพียง 2-3 ชั่วโมง หรือมีผลข้างเคียงจากยามาก

4.ส่วนในกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติเฉพาะส่วน สามารถทำการรักษาโดยการฉีดยาเพื่อควบคุมอาการเฉพาะจุด ซึ่งจะออกฤทธิ์สกัดกั้นการส่งผ่านกระแสประสาทบริเวณกล้ามเนื้อด้วยการลดการหลั่งสารอะเซติลโคลีน ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ช่วยระงับความเจ็บปวด และลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ จึงควบคุมอาการบิดเกร็ง การสั่น และกระตุกเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผู้ป่วยได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ร่างกายคนเรามีความสามารถที่จะซ่อมแซมตัวเองได้ยามที่มีการบาดเจ็บ หรือมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อร่างกายเกิดขึ้น ทำให้หลายคนเมื่อมีอาการของโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติเกิดขึ้นมา ก็มักจะหายไปได้เอง โดยไม่ต้องทำการรักษาใดๆ แต่ในบางครั้ง ความผิดปกติของเนื้อเยื่อร่างกายเหล่านี้ ก็มีมากเกินกว่าที่ร่างกายจะซ่อมแซมตัวเองได้ จึงทำให้โรคไม่หายไปเอง ในกรณีนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ต่อไป

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105