“กระดูกเคลื่อนในเด็ก” อุบัติเหตุใกล้ตัวที่ไม่ควรประมาท!
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
06-ก.ย.-2561
ภาวะกระดูกเคลื่อนในเด็กมักพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือวัยเริ่มเดินเริ่มวิ่งได้ เนื่องจากสรีระของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อศอก ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ หากขยับผิดจังหวะก็จะเคลื่อนหลุดออกจากกันได้โดยง่าย ซึ่งส่วนของร่างกายเด็กที่มักจะเกิดอุบัติเหตุลักษณะนี้บ่อยมากที่สุด ก็คือ บริเวณข้อศอก

พฤติกรรมสุดฮิต…ที่ทำให้กระดูกเคลื่อน

บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองมักจะเผลอดึงแขนลูกโดยไม่ทันระวังจนเป็นเหตุให้กระดูกข้อศอกของเด็กเคลื่อนหลุดได้โดยไม่ตั้งใจ และถ้าหากว่าคุณมีลูกอยู่ในช่วงวัย 1-5 ปี นี่คืออุบัติเหตุใกล้ตัวอันดับต้นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องระวังมากเป็นพิเศษ

สาเหตุหลักของกระดูกข้อศอกเคลื่อน มักเกิดจากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงเด็ก เช่น การดึงหรือยกเด็กขึ้นจากพื้นโดยการจับมือแล้วฉุดขึ้น หรือการฉุดคว้าข้อมือเด็กยกตัวลอยให้ยืนขึ้น หรือการดึงแขนเด็กเพียงข้างเดียว เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้กระดูกข้อศอกของเด็กเคลื่อนหลุดได้โดยไม่ตั้งใจ


สิ่งแรกที่ต้องทำ…เมื่อลูกกระดูกเคลื่อน

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุกระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก คือ การจัดให้ส่วนที่เจ็บอยู่นิ่งๆ มากที่สุด แล้วรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลในทันที พยายามอย่าขยับข้อศอกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง เพราะอาจทำผิดพลาดแล้วทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อศอก เส้นเอ็น เส้นเลือดบริเวณนั้นมากยิ่งขึ้น และในระหว่างทางไปพบแพทย์ ควรประคบเย็นตรงบริเวณที่เจ็บและรักษาสภาพข้อศอกให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด

และถึงแม้ว่าในบางรายกระดูกข้อศอกอาจขยับเข้าที่ได้เอง จนสามารถขยับแขนได้เป็นปกติและหายเจ็บแล้วก็จริง แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดและเพื่อความแน่ใจว่าไม่ได้มีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วย

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105