โรคในเด็กแรกเกิด
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
17-ม.ค.-2566
title “ช่วงวัยแรกเกิด” ของลูก เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการเลี้ยงดู เพราะร่างกายของเด็กยังต้องได้รับการทะนุถนอมและการดูแล เพื่อการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์

และสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ คือ โรคที่พบบ่อยในเด็กแรกเกิด เพื่อการสังเกตถึงความผิดปกติและอาการต่างๆ ที่เกิดกับลูก จะได้มีความพร้อมในการรับมือได้อย่างถูกต้อง หรือพาไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อลูกป่วย

โรคที่ต้องระวังในเด็กแรกเกิด
1. ภาวะติดเชื้อในเด็กแรกเกิด
นับเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กแรกเกิดนั้นยังมีภูมิต้านทานไม่มากพอ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยมากแล้วปัจจัยที่จะทำให้เด็กติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะได้มาจากแม่ โดยเฉพาะแม่ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดนานๆ เพราะเชื้อจากช่องคลอดจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ จนก่อให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อจนแพร่เข้าสู่ร่างกายของลูกได้ ดังนั้นถ้าแม่มีน้ำเดินก่อนคลอด หรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอด โดยถ้ายิ่งแตกก่อนคลอดนานเท่าไหร่โอกาสติดเชื้อก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะตัวถุงน้ำคร่ำจะเหมือนกับตัวป้องกันเชื้อโรคด้วย ดังนั้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดท้องใกล้คลอดหรือมีน้ำเดินก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเตรียมคลอดเลยทันที จะได้เป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะติดเชื้อในลูกที่กำลังจะคลอดออกมา

เมื่อเด็กทารกคลอดออกมาแล้ว อาจมีการแสดงของการอาการติดเชื้อได้หลายอย่าง เช่น กินนมน้อย ซึม หายใจผิดปกติ ตัวซีดหรือบางรายอาจมีอาการชักเกร็ง ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าทารกมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบพาทารกไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

2. โรคทางเดินหายใจในเด็ก
ตั้งแต่จมูก คอ ไปถึงปอด เนื่องจากเด็กแรกเกิดที่เพิ่งออกมาจากครรภ์มารดา เป็นช่วงที่เขากำลังเปลี่ยนผ่านวิธีการหายใจ จากการอาศัยแม่ผ่านรก มาเป็นการหายใจด้วยตัวเอง ดังนั้นการทำงานของปอด หรือระบบหายใจจะยังทำได้ไม่เต็มที่นัก เรื่องของทางเดินหายใจจึงเป็นสิ่งที่แพทย์จะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

สำหรับเด็กคลอดปกติและอายุครรภ์ครบถ้วน ปัญหาเรื่องการหายใจจะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ แต่หากเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรืออายุครรภ์ไม่ถึง 36 สัปดาห์ ก็จะต้องเฝ้าระวังเรื่องการทำงานของปอดเป็นพิเศษ

3. ภาวะตัวเหลืองแรกเกิด
ภาวะตัวเหลืองในเด็กทารก เกิดจากสารเคมีที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) เป็นสารสีเหลืองเกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มีอยู่ในเลือดสูง เนื่องจากตับของทารกแรกเกิดที่ยังทำงานไม่สมบูรณ์นั้นไม่สามารถกำจัดสารนี้ไปได้หมด จึงส่งผลให้เด็กเกิดอาการตัวเหลือง ซึ่งโดยมากมักจะเกิดกับเด็กทารกในช่วง 2-3 วันแรกของการคลอด และโดยทั่วไปเด็กจะตัวเหลืองไม่เกิน 10 วัน แต่หากเด็กที่ตัวเหลืองมากๆ หรือตัวเหลืองในวันแรกที่คลอดออกมา และเหลืองขึ้นอย่างรวดเร็ว แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจและติดตามผล ซึ่งในบางรายแพทย์จะใช้วิธีการส่องไฟเพื่อรักษาอาการตัวเหลือง

4. น้ำตาลในเลือดผิดปกติ
สำหรับทารกที่น้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าปกติ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ 1. ตัวคุณแม่ คือถ้าแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็อาจจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของทารกได้ 2.สาเหตุจากตัวลูก หากทารกที่คลอดมามีน้ำหนักต่ำกว่า หรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็อาจจะส่งผลต่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดของทารกต่ำก็เป็นได้

หากพบว่าทารกมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือควบคู่กับการกินนมแม่

ทำไมจึงต้องเฝ้าระวังโรคในเด็กแรกเกิด
เพราะช่วงที่เด็กเกิดใหม่เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จากเดิมที่เคยอยู่ในท้องแม่มาตลอดแล้วต้องมาหายใจเอง รวมถึงอวัยวะต่างๆ ก็ต้องทำงานด้วยตัวเองทั้งหมดแล้ว  ทำให้ช่วงที่น่าห่วงมากที่สุดก็คือช่วงแรกเกิดไปจนถึงช่วงอายุ 1 เดือน เพราะเป็นช่วงที่ระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการทำงานของหัวใจจะปรับตัวและพัฒนาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

แนะนำเทคนิคนี้ เพื่อการดูแลลูกน้อยอย่างถูกวิธี
ในการดูแลเด็กเล็กหรือทารกที่คลอดใหม่นั้น จะดูแลยากกว่าเด็กโตอยู่มาก เนื่องจากเด็กยังพูดไม่ได้ แต่จะแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น การตื่นนอนและการร้องไห้เป็นหลัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะใส่ใจดูแลลูกเป็นพิเศษ ชนิดที่ต้องอาศัยการสังเกตและความอดทน เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเริ่มเข้าใจในสิ่งที่ลูกสื่อสารมากขึ้น ตอนนั้นก็จะดูแลเขาได้ง่ายขึ้น

อย่างเด็กที่คลอดมาใหม่จะนอนเก่ง จะกินได้ค่อนข้างดี การสื่อสารเขาจะสื่อสารได้ทางเดียวคือการร้องไห้ ดังนั้นคนเป็นพ่อเป็นแม่จึงควรสังเกตว่า การที่ลูกร้องไห้นั้น เป็นร้องไห้แบบไหน เกิดจากสาเหตุใด เช่น หากร้องเพราะหิวอาจสังเกตได้ว่าปากจะขยับ แต่หากร้องไห้เพราะปวดท้อง ท้องอืด พ่อแม่ก็ควรสังเกตท้องของลูกว่า มีท้องอืดตึงกว่าปกติหรือไม่ หรือว่าร้องไห้จากความไม่สบายตัว ก้นแฉะ หรือจากการขับถ่ายก็อาจจะเป็นได้ ที่สำคัญ เมื่อสงสัยว่าลูกป่วยหรือมีอะไรที่ผิดปกติ ก็ควรสังเกตอาการอื่นร่วมด้วยเสมอ หากเด็กซึม ไม่กินนม แสดงว่ามีปัญหาแน่ จงอย่ารอช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


ข้อมูลโดย นพ.อดิศร์ อิงคตานุวัฒน์
กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
ข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-514-4141 ต่อ 3220 – 3221
Line id : @Paolochokchai4