“แผลเบาหวาน” เรื่องสำคัญ…ที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องใส่ใจ!!
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
04-ธ.ค.-2561
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากการดูแลใส่ใจเรื่องอาหารการกิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว การดูแลใส่ใจในเรื่องความสะอาดของบาดแผล ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากบาดแผลเกิดการลุกลามและติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย หากไม่อยากต้องสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็ควรหันมาใส่ใจ “แผลเบาหวาน” ก่อนสายเกินไป!!

สาเหตุสำคัญ…ก่อให้เกิด “แผลเบาหวาน”

- ภาวะปลายประสาทเสื่อม เพราะน้ำตาลในเลือดมีผลทำให้ระบบประสาทผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม ผู้ป่วยจึงมักมีอาการชาหรือไร้ความรู้สึกบริเวณเท้า เมื่อเกิดบาดแผลบริเวณเท้า ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวและปล่อยให้เกิดบาดแผลลุกลาม
- ความผิดปกติของหลอดเลือด การเกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็งจนเกิดอุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยง รวมไปถึงการเกิดบาดแผลเรื้อรัง เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงได้เพียงพอ การสมานแผลจึงเป็นไปได้ยาก และมักพบมากที่บริเวณปลายนิ้วเท้าหรือส้นเท้า
- ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ บาดแผลของผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะบริเวณเท้าที่สัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ซึ่งมีผลกระทบมาจากการสมานแผลช้าเพราะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้แผลเกิดอักเสบลุกลาม และอาจร้ายแรงถึงขั้นต้องตัดขา หรืออวัยวะส่วนนั้นๆ ที่เกิดแผลได้


เช็คระดับความรุนแรงของแผลเบาหวาน

- ระดับ 0 ไม่มีอาการแผลเปื่อย
- ระดับ 1 มีแผลเกิดขึ้น…แต่ไม่มีอาการอักเสบ
- ระดับ 2 แผลลึกจนมองเห็นเส้นเอ็นและกระดูก
- ระดับ 3 แผลเกิดการลุกลามบริเวณกว้าง


การดูแลรักษาแผลเบาหวาน…ไม่ใช่เรื่องยากเกินความใส่ใจ

- การทำแผลด้วยตนเอง ผู้ป่วยควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำอุ่น โดยล้างอย่างเบามือที่สุด หลีกเลี่ยงการขัดถู เช็ดให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อที่ไม่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ พร้อมกับปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่แห้งและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
- การทำแผลโดยแพทย์ หากมีหนองคั่งอยู่ต้องเปิดแผลให้กว้างเพื่อระบายหนองออก ตัดเนื้อเน่าหรือเนื้อตายออก ล้างด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาเบตาดีนเจือจาง อย่างน้อยวันละ 2-4 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

หากแพทย์พบว่าแผลผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือพบว่ามีการติดเชื้อ อาจใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย หรือหากพบภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง อาจต้องผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังบริเวณแผลได้ ทั้งนี้ แนวทางการดูแลรักษาแผลเบาหวาน…แพทย์จะพิจารณาตามความพร้อมของผู้ป่วยและสภาพความรุนแรงของบาดแผลร่วมด้วย


สอบถามเพิ่มเติม

คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.2-514-4141 ต่อ 1100-1101