ดิจิตอลแมมโมแกรม การตรวจหาความผิดปกติของเต้านม
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
08-ก.ย.-2566
การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม ผู้หญิงหลายคนอาจเคยได้ยินกันบ้างแล้วว่าเป็นการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมของผู้หญิงทั้งในระยะเริ่มแรกไปจนถึงระยะลุกลาม เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามะเร็งเต้านมเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรา และเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดิจิตอลแมมโมแกรม ตรวจอะไรบ้าง
ซึ่งเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมนี้สามารถฉายให้เห็นลักษณะความเข้มทึบที่ต่างกันของเนื้อเยื่อแต่ละชนิด เช่น เนื้อเยื่อเต้านม หลอดเลือด ไขมัน หินปูน หรือกลุ่มแคลเซียมที่เกิดจากมะเร็งท่อน้ำนมในระยะแรก รวมถึงก้อนเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถระบุตำแหน่ง และค้นหาความผิดปกติของเต้านมได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และรวดเร็ว รวมถึง สามารถเลือกวิธีการรักษาได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้จากโรคมะเร็งเต้านมได้

ตรวจแมมโมแกรม & ตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม ต่างกันอย่างไร
การตรวจแมมโมแกรม (Digital Mammogram) เป็นการตรวจทางรังสีที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงและคมชัดมากกว่า ทำให้สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งมองไม่เห็นจากการอัลตราซาวด์ ส่วนการตรวจอัลตราซาวด์เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้

ส่วนการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม (breast ultrasound) เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม โดยคลื่นเสียงจะไปกระทบกับส่วนต่าง ๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจ ทำให้สามารถบอกความแตกต่างขององค์ประกอบเนื้อเยื่อได้ว่าเป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ เป็นถุงน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อ การตรวจนี้จะทำให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำขึ้นในผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมหนาแน่น แต่จะมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถตรวจพบหินปูนขนาดเล็กได้
ทั้งนี้ แพทย์จะแนะนำให้ ตรวจแมมโมแกรมร่วมกับการอัลตร้าซาวด์เต้านม เพิ่มความถูกต้อง และชัดเจนในการค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป

ใครควรตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม
เพราะผู้หญิงทุกคนอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งอาจเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงจำเป็นต้องหมั่นต้องเช็กเต้านมอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกัน และลดการลุกลามของมะเร็งไม่ไปยังอวัยวะต่างๆในร่างกาย
  • ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือคนในครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
  • มีอาการผิดปกติที่เต้านม เช่น คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือใต้รักแร้ มีการเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น มีของเหลวหรือเลือดออกจากหัวนม หัวนมผิดตำแหน่ง เช่น ยุบลงไปหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น หรือผื่นรอบหัวนม และรู้สึกเจ็บเต้านม
  • ผู้ป่วยที่เสริมซิลิโคนเต้านม สามารถตรวจได้ แต่อาจจะมีท่าที่ตรวจเพิ่มขึ้น เพื่อให้เห็นชัดเจนมากขึ้น
  • บุคคลที่มีผลการตรวจทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่ ยีน BRCA-1 และ BRCA-2 ซึ่งยีนดังกล่าวจะพบได้เพียงร้อยละ 5 – 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด
  • ผู้ที่เคยรับการฉายแสง หรือได้รับยาฮอร์โมนทดแทน เพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณหน้าอก
  • ผู้ที่ได้รับการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ และพบภาวะที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงหรือพัฒนากลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคตได้ Atypical ductal hyperplasia

ข้อดี การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม
  • เป็นการตรวจที่ใช้เวลาเพียง 2-3 วินาที โดยมีการบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล ซึ่งแพทย์สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้เลย
  • ภาพเอกซเรย์มีความละเอียดสูง และคมชัด เพราะบางครั้งจุดหินปูนในเต้านมอาจมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถคลำพบ หรือตรวจอัลตร้าซาวด์เจอได้
  • ปริมาณรังสีต่ำ มีความปลอดภัยสูง และไม่ผลข้างเคียงกับร่างกาย เนื่องจากมีการควบคุมปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐาน
  • ไม่มีรังสีตกค้างในร่างกายหลังจากตรวจเสร็จแล้ว

การเตรียมตัวก่อนตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม
  • สามารถรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำได้ตามปกติ
  • ห้ามทาโลชั่น แป้งฝุ่น และสเปร์ยต่างๆ บริเวณเต้านม หรือรักแร้
  • หากเคยตรวจแมมโมแกรมหรือดิจิทัลแมมโมแกรม ควรนำภาพ และผลตรวจเดิมมาเปรียบเทียบดูความแตกต่างในแต่ละครั้ง
  • หากเคยเสริมหน้าอก หรือมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับเต้านม เช่น คลำเจอก้อน เจ็บเต้านม ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการตรวจ

ค่าผลตรวจเเมมโมแกรม ระดับไหนกันนะที่เสี่ยงมะเร็งเต้านม
  • BIRADS 1 หมายถึง ตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ แต่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • BIRADS 2 หมายถึง ตรวจพบสิ่งที่มีได้ตามปกติธรรมชาติในเต้านม เช่น หินปูนธรรมดา ซีสต์หรือถุงน้ำเต้านม ก้อนเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ซึ่งโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมยังมีน้อย แต่ก็ควรตรวจติดตามทุกปี
  • BIRADS 3 หมายถึง ตรวจพบสิ่งผิดปกติในเต้านม (probably benign) โอกาสเป็นมะเร็ง 0 – 2% ซึ่งควรตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด หรือตรวจซ้ำทุก ๆ 6 เดือน จนครบ 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
  • BIRADS 4 หมายถึง ตรวจพบความผิดปกติในเต้านม และมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่า 2-95% จึงจำเป็นต้องได้ชิ้นเนื้อจากก้อน หรือหินปูนที่ผิดปกตินั้น เพื่อไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นชิ้นเนื้อร้าย หรือดี หากเป็นชิ้นเนื้อร้ายก็ทำการรักษาเป็นลำดับต่อไป
  • BIRADS 5 หมายถึง ตรวจพบความผิดปกติ ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้สูงมากกว่า 95% และควรเจาะตรวจชิ้นเนื้อ
  • BIRADS 6 ความผิดปกติที่ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเป็นมะเร็ง

เพราะฉะนั้น อยากให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองนี้ เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงในอนาคต หรือหากตรวจพบความเสี่ยงตั้งแต่ในระยะแรกก็จะสามารถเริ่มทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
Line : Paolochokchai4