ดูแลสุขภาพลูกรักในวันที่ฝุ่นพิษเต็มเมือง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
30-ม.ค.-2562
ฝุ่นละออง PM2.5 ที่ลอยอยู่ทั่วท้องฟ้ากรุงเทพในขณะนี้ ถือเป็นฝุ่นพิษที่ส่งผลกระทบต่อเราชาวกรุงเทพทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งในเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็นที่กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและเป็นน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะอะไรเราไปหาคำตอบจาก นพ.สุรพงษ์ ลีโทชวลิต กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช กัน

ทำความรู้จักกับฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนเล็ก 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ขนจมูกไม่สามารถกรองได้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจกระแสเลือดและแทรกซึมผ่านอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโรคเรื้อรัง

ความแตกต่างมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 กรมควบคุมมลพิษประเทศไทย - WHO องค์การอนามัยโลก Source: กรมควบคุมมลพิษ และ องค์การอนามัยโลก

มคก./ลบ.ม. (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
- 50ค่าเฉลี่ย 24 ชม.
- 25ค่าเฉลี่ย 1 ปี (ประเทศไทย)
- 25ค่าเฉลี่ย 24 ชม.
- 10ค่าเฉลี่ย 1 ปี (WHO)

และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ของไทยกำหนด 101-200 = สีส้ม

อ้างอิง: http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php แต่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าถ้าเกิน 150 เป็นสีแดง ซึ่งในกรุงเทพมหานครขณะนี้กำลังเป็นสีแดง


อันตรายของฝุ่น PM2.5 ก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง ?

- โรคหลอดเลือดในสมอง
- มะเร็งปอด
- ปอดอุดกั้น
- ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง
- หัวใจขาดเลือด
- โรคภูมิแพ้ผิวหนัง
- ตาอักเสบ
- โรคระบบทางเดินหายใจ


เด็ก!! น่าเป็นห่วงกว่าผู้ใหญ่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ย่านใจกลางเมือง แม้กระทั่งเด็กที่ต้องไปโรงเรียนและต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เนื่องจากการทำงานของปอดนั้นยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่เหมือนผู้ใหญ่ อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกันในเด็กก็ยังทำงานไม่เต็มที่ หากเกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เด็กก็ย่อมจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังในระยะยาว และหากเด็กคนนั้นมีโรคประจำตัวเช่นภูมิแพ้ หอบหืดก็อาจส่งผลให้อาการของโรคกำเริบมากยิ่งขึ้น

ดูแลสุขภาพลูกรักในวันที่ฝุ่นพิษเต็มเมือง

สำหรับการดูแลสุขภาพของลูกน้อยในสถานการณ์ปัจจุบันนี้แนะนำว่า ให้หลีกเลี่ยงการพาเด็กออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการพาลูกไปยังที่ที่มีปริมาณฝุ่นระดับสูง หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านแนะนำให้ใช้หน้ากากกันฝุ่นชนิด N 95 และเช็คคุณภาพอากาศจาก Application Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ AirVisual

นอกจากนี้ก็แนะนำให้เสริมภูมิต้านทานให้ลูกโดยเน้นการกินผัก ผลไม้ ออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย รวมถึงหมั่นสังเกตลูกรัก หากมีอาการ แสบ จมูก น้ำมูกไหล ไอเรื้อรัง แนะนำให้รีบพาลูกมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด