เมื่อสูงวัย ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
19-พ.ค.-2566

ผู้สูงอายุ  เป็นวัยที่มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก และเป็นวัยที่ร่างกายเริ่มถดถอยอ่อนแอไปตามกาลเวลา โดยผู้สูงอายุในแต่ละคนจะมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยเสี่ยง ทำให้ระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกายเสื่อมสภาพ และไม่สามารถทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การตรวจสุขภาพในผู้สูงอายุ เลยต้องตรวจให้ครอบคลุมในทุกการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพื่อให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคบ้างโรคให้หายขาดได้


ทำไมผู้สูงอายุต้องตรวจสุขภาพ ?

เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้เมื่อทำกิจกรรมอะไรเล็กน้อยก็มักจะรู้สึกเหนื่อยง่าย และเคลื่อนไหวได้ช้าลง ไม่ว่าจะนั่ง นอน หรือออกกำลังกาย ก็ไม่เต็มที่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ส่งผลให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันลำบากมากขึ้น  อีกทั้ง เป็นวัยที่มีภาวะทางอารมณ์ที่ต้องดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวมากเป็นพิเศษ โดยการตรวจสุขภาพของผู้สูงวัยเป็นการตรวจเน้นให้ครอบคลุมตามความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ร่างกาย เช่น หัวใจ ไต ความหนาแน่นมวลกระดูก และความเสี่ยงมะเร็งต่างๆ เพื่อช่วยประคองสุขภาพของผู้สูงวัยให้มีสุขภาพที่ดี และไม่ต้องกังวลกับเรื่องสุขภาพที่มาพร้อมกับช่วงวัย


อาการที่พบบ่อยเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ?

  • การใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานได้น้อยลง หรือเบื่ออาหาร จนร่างกายเริ่มซูบผอม
  • การนอนที่ผิดปกติ จะหลับยากขึ้น ตื่นบ่อย หลับไม่ลึก และตื่นมารู้สึกไม่สดใส เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีสาเหตุมาจากภาวะซึมเศร้า เครียด  และมีอาการวิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิม
  • ปัญหาด้านสุขภาพตา และการได้ยิน ที่ลดลง ส่งผลให้เกิดโรคต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทเสื่อม
  • ภาวะกระดูกพรุน จะเกิดได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หรือเข้าสู่ช่วงวัยทอง เพราะเป็นช่วงวัยที่ร่างกายสูญเสียฮอร์โมน และรับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อการสร้างกระดูก อีกทั้ง การรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  • สูญเสียการทรงตัว โดยระบบประสาทสัมผัสเสื่อม ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง พฤติกรรมการเคลื่อนไหวบางท่าทางในชีวิตประจำวันก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการทรงตัวได้


ผู้สูงอายุต้องตรวจสุขภาพอะไรบ้าง

  • ตรวจร่างกายทั่วไป จะเป็นการตรวจการได้ยิน ตรวจการมองเห็น เพื่อช่วยประเมินสภาวะก่อนเบื้องต้นในการที่จะตรวจแบบเจาะลึกมากขึ้น
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจดูความเสี่ยงของโรคเบาหวาน หรือตรวจไขมันดูความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และเส้นเลือดในสมองตีบ และภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ เพราะเป็นช่วงวัยที่บางครั้งอาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือกล้ามเนื้อหูรูดเสื่อม
  • ตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งต่างๆ ที่อาจมีความเสี่ยงจากช่วงวัยหรือจากกรรมพันธ์ เช่น หากเป็นผู้ช่วยก็เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หากเป็นผู้หญิงก็จะเป็นมะเร็งเต้านม เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาได้อย่างทันถ่วงที
  • ตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า เพื่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติของปอด เช่น ถุงลมป่องพอง ก้อนที่ปอด วัณโรคปอด
  • อัลตร้าซาวด์ช่องท้องทั้งหมด เพื่อดูความผิดปกติในช่องท้อง เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ก้อนที่รังไข่นิ่วที่ไต
  • อัลตร้าซาวด์เต้านม เพื่อตรวจดูความผิดปกติบริเวณเต้านม เพราะหากตรวจเจอก้อนเนื้อที่เต้านม แพทย์จะทำการรักษาอย่างทันที ก่อนที่จะลุกลามไปรุนแรงมากกว่านี้
  • ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก จะเป็นการตรวจดูความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กระดูกเปราะบาง และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้มากขึ้น


การป้องสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง

1. ควบคุมโภชนาการ เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด และเน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง

2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หรือเป็นลมได้

3. ดูแลสุขภาพจิตใจให้สดใส เพราะหากปล่อยให้ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว อาจทำให้เขาเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้

4. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ต้องเลือกชนิดกีฬาที่เหมาะสมกับสภาวะของร่างกาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

5. ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาเมื่อมีอายุมากขึ้น

 

นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และหลีกเลี่ยงไม่ให้หกล้ม เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกรับแรงกระแทก และการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับช่วงวัย


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
คลินิกอายุรกรรม อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 1102, 1105