เช็คอาการเบื้องต้น ของ “3 โรคทางเดินอาหาร”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
15-พ.ย.-2565

คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม โรคระบบทางเดินอาหาร” อย่างไม่รู้ตัว เพราะมักคิดว่า ปวดท้อง”  นิดหน่อย หรือท้องเสียนิดหน่อยไม่น่าจะเป็นอะไรหรอก มารู้ตัวอีกที จากโรคเล็กๆ อาการน้อยๆ พอเป็นบ่อยๆ อาจกลายเป็นโรคเรื้อรังแล้ว เพราะเหตุนี้เราเลยอยากให้ทุกคนที่มีอาการปวดท้อง ไม่ว่าจะปวดแบบไหน ให้ลองเช็กอาการเบื้องต้นกันหน่อยว่า... เข้าข่ายเป็นโรคระบบทางเดินอาหารอยู่หรือเปล่า

1.โรคกระเพาะ

สังเกตอาการปวดท้องของตัวเอง ว่า... ปวดจุกๆ แน่นๆ ตรงเหนือสะดือหรือบริเวณลิ้นปี่ และอาการเป็นๆ หายๆ ช่วงที่หิวหรือหลังรับประทานอาหารเสร็จ ถ้าเป็นแบบนี้ให้คิดเลยว่า น่าจะใช่แน่ๆ ซึ่งสาเหตุของโรคกระเพาะอาการก็อาจจะเกิดได้จากทั้งการเป็นแผล หรือจากการบีบตัวของกระเพาะกับลำไส้ไม่ประสานกัน


2.โรคกรดไหลย้อน

เป็นโรคยอดฮิตที่พบสูงมาก จนพุ่งแซงโรคระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ภายในไม่กี่ปีมานี้ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนที่หน้าอกจากน้ำย่อยที่ไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร นอกจากจะสร้างความไม่สบายตัวแล้ว ถ้าเราปล่อยไว้ไม่รักษา จะทำให้กล่องเสียงและหลอดอาหารอักเสบได้อีกด้วย


3.โรคลำไส้แปรปรวน

ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ้า 3 อาการนี้แวะเวียนสลับไปมาบ่อยเกินปกติ และจะว่ากินอาหารที่ไม่สะอาดก็ดูไม่ใช่ เพราะเพื่อนคนอื่นไม่เห็นเป็นอะไรเลยทั้งๆ ที่กินอาหารเหมือนๆ กัน ก็สันนิษฐานได้เลยว่าลำไส้ของเรากำลังประท้วง ขอแปรปรวนแล้วล่ะ จริงๆ แล้วโรคนี้จะไม่พัฒนากลายเป็นโรคที่ร้ายแรงขึ้น แต่จะสร้างความรำคาญและความไม่สบายตัวให้กับตัวผู้ป่วย

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าเราเป็นหมดเลยทั้ง 3 โรค ก็อย่าเพิ่งตกใจ เพราะโรคระบบทางเดินอาหารนั้นมักจะสังเกตยากกว่าโรคในระบบอื่นๆ คืออาการเบื้องต้นจะค่อนข้างคล้ายกัน ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจด้วยการส่องกล้อง เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ จะได้ทำการรักษาอย่างตรงจุด

ส่องกล้องตรวจ…จะเจ็บหรือเปล่า?

“เจ็บไหม?” มักเป็นคำถามแรกๆ ที่ผู้ป่วยเอ่ยปากถามคุณหมอ ซึ่งเราจะบอกว่า “ไม่ต้องกังวล” เพราะแพทย์จะใช้สเปรย์ยาระงับความรู้สึก หรือกลั้วปากด้วยยาชาเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อผู้เข้ารับการตรวจพร้อม แพทย์จะค่อยๆ สอดกล้องขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยเข้าไปตามระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจหารอยโรคหรือดูอาการ โดยระหว่างสอดกล้องแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหายใจลึกๆช้าๆ เพื่อลดอาการคลื่นไส้

การเตรียมตัวง่ายๆ ก่อนการ “ส่องกล้อง” ตรวจทางเดินอาหาร

ในการส่องกล้อง ผู้ป่วยควรทำให้ท้องว่าง ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในช่วง 8-10 ชั่วโมง หรือหลังเที่ยงคืนก่อนทำการส่องกล้อง และควรพาเพื่อนหรือญาติมาด้วย เพราะฤทธิ์ยาอาจทำให้เราเบลอหลังจากตรวจเสร็จจึงควรมีคนคอยดูแล และเมื่อตัดสินใจตรวจควรแจ้งข้อมูลสุขภาพให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เช่น ประวัติการแพ้ยา การผ่าตัด รวมถึงโรคประจำตัว เพื่อแพทย์จะได้วางแผนการตรวจให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เข้ารับการตรวจ


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ อาคาร 1 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

02-514-4141 ต่อ 1210