เมื่อเจ้าตัวเล็กประสบอุบัติเหตุ ที่เสี่ยงต่อกระดูกหัก
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
07-ก.ย.-2561
วัยเด็กเป็นช่วงของการเจริญเติบโต และช่วงของการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทำให้เด็กในช่วงนี้มีความอยากรู้อยากเห็นและสนใจในสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยากทดลองอยากหยิบจับอยู่ตลอดเวลา

ส่งผลทำให้เด็ก ๆ ไม่อยู่นิ่งและซุกซนจนเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดคาดฝันสำหรับพ่อแม่หรือคนเลี้ยงทั้งสิ้น

เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ระมัดระวังหรือเตรียมรับมือกับอุบัติเหตุนั้น นพ.วันชัย บุญญาภิรัตน์ แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ จะมาให้ความรู้ในการเตรียมรับมือกับอุบัติเหตุในเด็กที่อาจส่งผลต่อการบาดเจ็บของกระดูกกัน

อุบัติเหตุเกิดได้ที่ไหนบ้าง

สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดกับเด็กนั้น โดยทั่วไปสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทั้งที่บ้าน หรือโรงเรียนจากการเล่นกับเพื่อน การพลัดตกหกล้มระหว่างอยู่ที่โรงเรียน แม้กระทั่งระหว่างที่พ่อแม่พาไปเที่ยวหรือตามสถานที่ต่าง ๆ

แต่สถานที่ที่พบว่าเด็กเกิดอุบัติเหตุมากเป็นพิเศษก็คือ “สนามเด็กเล่น” ซึ่งโดยมากอุบัติเหตุที่พบได้มากก็คือ อุบัติจากการเล่นเครื่องเล่น รองลงมาก็เกิดจากการหกล้ม

อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็มีอุบัติเหตุในเด็กไม่ได้เกิดจากการพลัดตกหกล้มโดยตรง อาจจะเกิดจากพ่อแม่เอง เช่น การที่เด็กหกล้มแล้วพ่อแม่ดึงแขนขึ้นมา หรือพ่อแม่จูงมือเด็กและออกแรงในการดึงมากเกินไปก็อาจจะทำให้เป็นภาวะ Pulled elbow หรือภาวะข้อศอกเคลื่อนจากการดึงได้เช่นกัน

หากเกิดอุบัติเหตุกับเด็ก ต้องทำอย่างไร

เมื่อเด็กได้รับอุบัติเหตุ สิ่งแรกที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงควรทำคือ ตั้งสติและจำรูปแบบหรือลักษณะของอุบัติเหตุนั้นให้ดีว่าเด็กหกล้มท่าไหน เอาส่วนใดของร่างกายลง และให้สังเกตดูว่าหลังจากเกิดอุบัติเหตุแล้วเด็กสามารถเคลื่อนไหวได้หรือไม่ หากเด็กยังสามารถเคลื่อนไหวได้ไม่เจ็บก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นกังวลใจอยู่ก็สามารถพาเจ้าตัวเล็กไปพบแพทย์ได้

และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเกิดอุบัติเหตุแล้วสงสัยว่าจะมีกระดูกหัก หรืออาการบาดเจ็บมาก ๆ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ห้ามขยับร่างกายบริเวณส่วนนั้นเด็ดขาด ทั้งนี้รวมถึงห้ามดึงดัดหรือถูนวดด้วยตนเอง ให้หาสิ่งของหรือไม้กระดานดามร่างกายส่วนนั้นไว้ และรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

การรักษาความผิดปกติกระดูก ที่เกิดจากอุบัติเหตุในเด็ก

การรักษาความผิดปกติของกระดูกหัก ที่เกิดอุบัติเหตุของเด็กนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการบาดเจ็บด้วย แพทย์จะวินิจฉัยว่ามีกระดูกที่หักมีการผิดรูปไหม หากไม่ผิดรูปการรักษาก็จะไม่ซับซ้อน ใส่เฝือกรักษาได้เลย แต่หากผิดรูปก็จะใช้วิธีการดึงกระดูกให้เข้าที่แล้วใส่เฝือกรักษาต่อ